คนใกล้ตัวมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย จะรับมืออย่างไร?

คนใกล้ตัวมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย จะรับมืออย่างไร?


เป็นหัวข้อที่ฟังดูหนักหน่วงสำหรับหลาย  คน แต่เจตนาของบทความนี้ที่ต้องการสื่อสารออกไป ทั้งในคนที่กำลังเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงจนมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ และคนที่พบว่าคนใกล้ตัวมีความคิดอยากตาย หรือกำลังพยายามฆ่าตัวตาย 

 

เพราะจากการเก็บข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกสาเหตุการตายของประชากรโลก โดยพบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า  

 

กว่าที่คนหนึ่งคนจะฆ่าตัวตาย เกิดจากอะไร? 

การฆ่าตัวตาย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุอาจเป็นจากการที่รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ความยั้งคิด ความคิดชั่ววูบ รวมไปถึงการวางแผนระยะยาวเป็นขั้นเป็นตอน 

 

หนึ่งในสาเหตุที่พบได้มากที่สุดคือ การเป็นโรคซึมเศร้า 

การคิดอยากฆ่าตัวตายมาจากความรู้สึกที่หาทางออกไม่เจอ 

ต้องการให้พ้นจากภาวะเป็นทุกข์ที่รุนแรง พ้นจากความเหนื่อยล้า พ้นจากโลกที่ไม่มีความสุข ความคิดของคนที่จะฆ่าตัวตายมักไม่เห็นหนทางแก้ไข  สิ้นหวัง แม้แท้จริงแล้วจะมีทางออกก็ตาม

 

สัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตายสังเกตจากอะไรได้บ้าง

พูดเกี่ยวกับความตาย หรือการฆ่าตัวตาย

เสาะหาวิธีการฆ่าตัวตาย

รู้สึกไร้ค่าหมดหวัง ไม่มีเป้าหมาย

อาจพบการใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

พูดถึงตนเองว่าเป็นภาระ

มีลักษณะอาการวิตกกังวลสูง กระสับกระส่าย

มีปัญหาเรื่องการนอน อาจนอนมากเกินไปหรือนอนน้อยเกินไป

อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

 

ถ้าเจอคนใกล้ชิดบอกว่าอยากตาย ควรรับมืออย่างไร

การที่ใครสักคนบอกเราว่าเขามีความคิดอยากตาย อันดับแรกคือ ตั้งสติ อย่าตกใจจนเกินเหตุ สิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสารคือ การขอความช่วยเหลือ (call for help) ไม่มองว่าเป็นการพูดเล่น ไม่เพิกเฉยต่อการขอความช่วยเหลือและไม่มองว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญเป็นเรื่องเล็ก 

อย่าลังเลใจที่จะช่วยเหลือด้วยการรับฟังแบ่งปันความทุกข์ ท่าทีในการรับฟังสามารถช่วยให้อีกฝ่ายสามารถสงบใจได้มากขึ้น เช่น การรับฟังอย่างใจเย็น ไม่ตัดสินการกระทำหรือปัญหา ไม่แสดงท่าทีวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพียงแค่การรับฟังก็สามารถช่วยผ่อนคลายไปได้มาก

 

ในกรณีที่บางครั้งคนใกล้ตัวมีท่าทีหรือคำพูดไปในลักษณะไม่อยากมีชีวิตอยู่แต่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ การถามถึงความคิดอยากฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นข้อห้าม สามารถที่กระทำได้ โดยหลายคนจะมีความเข้าใจผิดว่ายิ่งถามจะยิ่งทำให้อยากทำมากขึ้น 

 

ซึ่งความคิดนี้ไม่เป็นความจริง เราสามารถสอบถามและประเมินได้ การถามทำให้เขาได้แสดงความรู้สึกออกมา ได้ระบายและรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้สำคัญ มีคนคอยรับฟังและอยู่เคียงข้าง มีคนเข้าใจทำให้เขารู้สึกดีขึ้น อย่าปล่อยให้เขาอยู่ลำพังคนเดียว เก็บของมีคมหรือของที่คิดว่าเขาอาจใช้เพื่อทำร้ายตนเองออกจากสายตา เพื่อป้องกันเหตุอันคาดไม่ถึงที่อาจเกิดขึ้น

หากกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความน่าเป็นห่วงหรือไม่มั่นใจ อีกทางเลือกหนึ่งคือพาไปพบจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือทีมสุขภาพจิตเพื่อเข้าสู่กระบวนการการดูแลรักษา ซึ่งการดูแลอย่างทันท่วงทีย่อมดีกว่ารอให้เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น 



Credit : พญ. วิลาวัลย์ กำจรปรีชา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS