ทำอย่างไร...เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน


พ่อแม่หลาย ๆ คน เมื่อถึงเวลาที่ลูกเริ่มโตจนถึงช่วงอายุที่เหมาะสมต้องไปโรงเรียนแล้ว หนึ่งในปัญหาที่พ่อแม่หลาย ๆ คนพบคือ ลูกมีงอแง ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือบางครั้งไปเรียนได้สามสี่วัน พาลไม่อยากไปโรงเรียนอีกแล้ว วันนี้ขอนำบทความดี ๆ จากทางคุณหมอ มาแชร์ให้ความรู้กันค่ะ

ปัญหาเรื่องเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับผู้ใหญ่หลายคน การช่วยเหลือที่สำคัญ คือ การช่วยให้เด็กกลับไปโรงเรียนได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งหยุดเรียนนานยิ่งกลับไปเรียนได้ยาก

สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนเกิดได้จากหลายอย่าง หากสามารถที่แก้สาเหตุรวมถึงให้การช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็กจะสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้


สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน

  • ปัจจัยภายนอก เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง, กลัวครูดุ, ถูกทำโทษ, ระบบการเรียนยาก, การบ้านเยอะ, ไม่ชอบบรรยากาศในโรงเรียน, มีคนที่บ้านเจ็บป่วย เด็กต้องการอยู่ใกล้ๆตลอดเวลา
  • ปัจจัยภายใน เช่น เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีคนเข้าใจ, เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง, อยู่บ้านแล้วสบายใจกว่า ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ (ดูทีวี เล่นเกม เล่นคอมพิวเตอร์ ฯลฯ) หรือมีโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคสมาธิสั้น, โรคบกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน (แอลดี),โรคออทิสติกสเปกตรัม, มีระดับสติปัญญาบกพร่อง

ลักษณะอาการของเด็กไม่อยากไปโรงเรียน

เด็กจะบ่น ต่อรอง ขอไม่ไปโรงเรียนในตอนเย็นของวันก่อนหน้าที่จะต้องไปโรงเรียนจริง มักเกิดในวันสุดท้ายของการหยุดยาว (วันหยุดพิเศษ,วันลาป่วย,ปิดเทอม)

บางทีอาจบ่นตอนเย็นทุกวัน เด็กดูวิตกกังวล กระวนกระวาย บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว นอนไม่หลับ ในตอนเช้าของวันที่ต้องไปเรียนเด็กจะไม่ยอมลุกจากที่นอน โอ้เอ้ บ่นว่ามีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง, ปวดศีรษะ ไม่ยอมอาบน้ำแต่งตัวหรือกินข้าว เมื่อมีการบังคับเด็กจะร้องไห้ โวยวาย อาละวาด ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ทำลายข้าวของ ยืนกรานไม่ยอมอย่างเดียว

แม้จะให้เหตุผลหรือข้อเสนอต่างๆก็ตาม หากผู้ปกครองสามารถพาขึ้นรถไปถึงโรงเรียนได้ เด็กอาจจะไม่ยอมลงจากรถ แต่เมื่อพาเด็กเข้าห้องเรียนได้ เด็กจะสามารถเรียนได้ตามปกติ หากเด็กได้หยุดอยู่บ้าน เมื่อผ่านช่วงเช้าที่เด็กต่อต้านการไปโรงเรียนแล้ว เด็กจะกลับมามีอารมณ์ปกติดี เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามารถทำกิจกรรมที่ชอบได้ เช่น เล่นเกม, ดูทีวี เด็กบางคนไม่ชอบให้ใครมาพูดถึงเรื่องการไปโรงเรียน เมื่อมีคนพูดถึงเรื่องนี้ เด็กจะมีท่าทีหงุดหงิด ขู่จะทำสิ่งต่างๆ เช่น ฆ่าตัวตาย, หนีออกจากบ้าน บางทีเด็กขอหยุดในวันนี้แล้วให้สัญญากับผู้ปกครองว่าจะไปในวันรุ่งขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่สามารถไปได้


การช่วยเหลือเพื่อให้เด็กกลับไปโรงเรียนได้

ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และทางโรงเรียนในการวางแผนช่วยเหลือร่วมกัน

ตัวเด็ก

ถามถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ตอนที่คุยกับเด็ก ผู้ปกครองต้องใจเย็น ไม่ควรคุยกันตอนที่มีอารมณ์ หลีกเลี่ยงการข่มขู่หรือตี เหตุผลที่เด็กบอกมาอาจเป็นสาเหตุจริงๆ แต่บางครั้งอาจเป็นเหตุผลรองๆที่ไม่ใช่เหตุผลหลักของการไม่ไปโรงเรียน (แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กโกหก เพราะบางครั้งเด็กเองก็ไม่รู้เหมือนกัน)

วิธีการสังเกตว่าเป็นเหตุผลนั้นเป็นสาเหตุที่แท้จริง คือ เมื่อแก้ที่สาเหตุแล้ว เด็กสามารถกลับไปเรียนได้ แต่หากเป็นเหตุผลรองๆ เช่น เด็กบางคนวิตกกังวลกลัวการแยกจากจากพ่อแม่ แต่เด็กบอกว่าไม่อยากไปโรงเรียนเพราะถูกเพื่อนแกล้ง เมื่อปรับสิ่งแวดล้อมแล้ว เด็กยังไม่ยอมไปอยู่ดี นั่นหมายถึงว่ายังไม่ได้แก้สาเหตุที่แท้จริง

ในช่วงที่เด็กเริ่มยอมกลับไปโรงเรียน เด็กอาจไม่อยู่ในโรงเรียนได้เต็มวันหรือไปถึงโรงเรียนแต่ไม่ยอมเข้าห้องเรียน ครูอาจช่วยด้วยการให้เด็กไปเรียนเฉพาะชั่วโมงที่เด็กชอบก่อน หรือพาเด็กไปนั่งในโรงเรียน เช่น ห้องพยาบาล, ห้องสมุด โดยให้เด็กเป็นคนเลือกเองว่าตำแหน่งใดในโรงเรียนที่เด็กรู้สึกสบายใจ ค่อยๆเพิ่มระยะเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียนให้นานขึ้น บางทีช่วงแรกผู้ปกครองอาจต้องนั่งเฝ้าเด็กที่โรงเรียนไปก่อน
ให้เด็กเลือกเพื่อนที่เด็กชอบนั่งเรียนด้วยกัน เลือกตำแหน่งโต๊ะนั่งที่สบายใจ
อนุญาตให้เด็กพกสิ่งของที่ปลุกปลอบใจไปโรงเรียนด้วย เช่น ตุ๊กตาที่ชอบ, รูปภาพคนในครอบครัว

หากพยายามทุกวิธีแล้ว แต่เด็กยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ควรรีบพาเด็กมารับการประเมินและรักษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น, กุมารแพทย์ เพราะบางทีสาเหตุที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนนั้นเกิดจากโรคทางจิตเวช หรือมีสาเหตุของปัญหาที่ซับซ้อนมาก จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือโดยผู้เชี่ยวชาญ

ผู้ปกครอง

ต้องพูดด้วยท่าทีหนักแน่น จริงจัง ยืนยันว่าเด็กต้องไปโรงเรียน ใช้คำพูดที่แสดงความเข้าใจและความพยายามที่จะช่วยเด็กแก้ปัญหา แม้เด็กจะต่อรอง โวยวาย อ้างเหตุผลต่างๆ ผู้ปกครองไม่ควรไปต่อล้อต่อเถียงหรือด่าข่มขู่ ผู้ปกครองต้องบอกเด็กถึงขั้นตอนของการไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น เช่น พรุ่งนี้จะตื่นกี่โมง, ใครจะเป็นคนไปส่ง, ไปรับกี่โมง ซึ่งผู้ปกครองต้องทำให้ได้ตามที่ตกลงสัญญากับเด็ก
วันไหนที่เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ให้ชื่นชม ให้กำลังใจ ไม่ควรพูดรื้อฟื้นเรื่องในอดีตหรือถากถาง

ตอนเช้าของวันที่ต้องไปโรงเรียนให้พาเด็กลุกจากที่นอน เด็กบางคนอาจต่อต้านไม่ยอมลุก หรือมีพฤติกรรมต่อต้านก้าวร้าว ผู้ปกครองต้องไม่ตอบโต้ด้วยคำพูด แต่ใช้การกระทำที่จะพาเด็กไปโรงเรียนแทน คือ อุ้มเด็กไปอาบน้ำ แต่งตัว ถ้าเด็กไม่ยอมร่วมมือให้อุ้มไปทั้งชุดนอน แล้วค่อยไปแต่งตัว กินข้าว ที่โรงเรียน โดยประสานงานนัดแนะกับครูให้มารับที่หน้าโรงเรียนหรือตำแหน่งอื่นๆที่ทั้งครูและผู้ปกครองสะดวก
พยายามหาคนอื่นมาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับพาเด็กไปโรงเรียนจะต้องอาศัยหลายคนร่วมกัน เช่น คนจับแขน จับขา, คนขับรถ

สิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากที่สุด คือ ห้ามใจอ่อนยอมให้เด็กต่อรอง เช่น วันนี้ขอหยุดแล้วพรุ่งนี้จะยอมไป ต้องใจแข็ง แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองเอาจริง หรือหากเด็กไม่ยอมไปจริงๆแล้วอยู่ที่บ้าน ต้องไม่ให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบ เช่น เล่นเกม เพราะจะเป็นการทำให้เด็กได้รางวัลจากการที่ไม่ไปโรงเรียน

คนรอบตัวเด็กต้องมีความเห็นตรงกัน คือ เด็กต้องไปโรงเรียน ไม่ใช่คนนี้จะบังคับให้ไป อีกคนใจอ่อนยอมให้หยุดเรียน

โรงเรียน

ช่วยหาและแก้สาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการไปโรงเรียนของเด็กเท่าที่จะเป็นไปได้ มีการประสานงาน ตกลงวิธีการช่วยเหลือเด็กร่วมกันกับผู้ปกครอง เมื่อเด็กยอมไปโรงเรียน หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเชิง แต่พูดให้กำลังใจในเชิงบวกแทน ทำความตกลงกับคุณครูท่านอื่น และเพื่อนๆว่าให้งดการล้อเลียน พูดตำหนิหรือไปทักถามเด็กว่าทำไมไม่ยอมมาโรงเรียน

ในช่วงต้นของการพาเข้าห้องเรียน เด็กอาจมีอาการร้องไห้ โวยวาย อาละวาด ให้เด็กอดทนอยู่ในห้องเรียนสัก 5-10 นาที ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้พาเด็กไปพักที่ห้องพยาบาล ห้องสมุดหรือห้องพักครู แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน

ในช่วงแรกที่เด็กยอมกลับไปนั่งในห้องเรียน หากในชั่วโมงเรียนเด็กยังดูกังวล หรือไม่ยอมทำงานตามที่ครูสั่ง พยายามหลีกเลี่ยงการดุด่า อาจให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่เด็กชอบก่อน (เป็นกิจกรรมที่ไม่รบกวนการเรียนการสอน) เช่น วาดรูป ระบายสี
หากเด็กมีงานค้างจากวันที่หยุดเรียน อาจเลื่อนวันส่งออกไป หรือลดปริมาณลง เพื่อให้เด็กสามารถทำงานส่งตามได้ทัน



Credit : พญ. ปรานี ปวีณชนา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS