ความสูญเสียที่สะเทือนใจ…กับบทเรียนที่ควรตระหนัก


จากข่าวเศร้าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กรณีของชายคนหนึ่งที่หยุดดื่มสุราอย่างกะทันหันจนส่งผลต่อสุขภาพ มีอาการสับสนจนเกิดเหตุการณ์รุนแรง และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด หมอขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้สูญเสียค่ะ

เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าใจผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตหรือสุขภาพจิตที่เปราะบาง การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.joyofminds.com/articles

การดื่มสุราเป็นเวลานานและหยุดดื่มทันที อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “Delirium Tremens (DTs)” หรืออาการถอนพิษสุรารุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการสับสน หลงผิด วิตกกังวล หรือหวาดระแวง บางรายอาจมีอาการทางกาย เช่น ชัก หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง

สำหรับคนที่มีคนใกล้ตัวดื่มสุราเป็นประจำ หากพบว่าเขาต้องการหยุดดื่ม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อวางแผนการเลิกดื่มอย่างปลอดภัย เพราะการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ในฐานะจิตแพทย์ หมออยากพาทุกคนไปเรียนรู้ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ แนวทางจัดการผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรงที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งผู้ป่วยและทุกคนที่อยู่รอบตัวนั้นมีวิธีอย่างไรบ้างค่ะ

1. พูดคุยด้วยความเข้าใจ
เมื่อเผชิญหน้ากับผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว สิ่งแรกที่ต้องทำไม่ใช่การจับตัวหรือใช้กำลัง แต่คือ “การพูดคุย” ค่ะ ทีมแพทย์และบุคลากรจะพยายามสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงสงบ และท่าทีที่เป็นมิตร เช่น

  • พูดให้กำลังใจ: “เราอยู่นี่เพื่อช่วยคุณนะคะ ไม่มีใครจะทำร้ายคุณ”
  • ถามไถ่สาเหตุ: “ตอนนี้คุณรู้สึกเครียดหรือกังวลเรื่องอะไรบ้างคะ? พวกเรามาช่วยค่ะ”
การพูดคุยช่วยลดความตึงเครียดในสถานการณ์ได้มาก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจว่าเราพร้อมช่วยเหลือ ไม่ใช่มองเขาเป็นศัตรู

2. การจัดการทางกายภาพ
หากการพูดคุยยังไม่สามารถลดพฤติกรรมรุนแรงได้ และผู้ป่วยมีแนวโน้มก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น อาจต้องใช้มาตรการจัดการทางกายภาพเข้ามาช่วย ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ “ทำเท่าที่จำเป็นและปลอดภัยที่สุด” ค่ะ

  • การแยกผู้ป่วยออกจากสิ่งกระตุ้น:
    ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปยังพื้นที่เงียบสงบและปลอดภัย เช่น ห้องแยกที่ไม่มีสิ่งของที่อาจเป็นอันตราย การลดสิ่งกระตุ้นรอบข้าง เช่น เสียงดังหรือแสงจ้า ช่วยให้ผู้ป่วยสงบลง
  • การผูกยึดเพื่อจำกัดพฤติกรรม:
    ในกรณีที่ผู้ป่วยยังคงแสดงพฤติกรรมรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เช่น ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นอาจต้องใช้การผูกยึด เช่น การใช้ผ้าผูกยึดแขนและขาเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหว แต่การผูกยึดต้องทำโดยทีมบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมเท่านั้น เน้นนะคะ ต้องได้รับการฝึกมาแล้ว!!!! และต้องทำอย่างนุ่มนวล เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของผู้ป่วย
การผูกยึดจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น และต้องเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อคลายสายรัดทันทีที่ผู้ป่วยสงบลงค่ะ

3. ใช้ยาเมื่อการควบคุมทางกายยังไม่เพียงพอ
ในบางกรณีที่ผู้ป่วยยังคงก้าวร้าวแม้จะมีการจัดการทางกายภาพแล้ว ทีมแพทย์อาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการรุนแรง ยาที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ยาคลายเครียด (Anxiolytics): เช่น Diazepam เพื่อลดความวิตกกังวล
  • ยารักษาอาการทางจิต (Antipsychotics): เช่น Haloperidol เพื่อลดความกระสับกระส่ายและก้าวร้าว
การใช้ยาจะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เช่น ง่วงซึม หรือความดันเลือดต่ำ เพื่อปรับการดูแลให้เหมาะสมค่ะ

จุดสำคัญที่ต้องจำ
  • การใช้มาตรการควบคุมทางกายเป็นทางเลือกสุดท้าย: ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างระมัดระวังและเคารพสิทธิของผู้ป่วย
  • ความปลอดภัยต้องมาก่อน: ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติ หรือบุคลากร ทุกคนต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยที่สุด
  • การประเมินอย่างต่อเนื่อง: ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจดูอาการทุก 15-30 นาที ทั้งในด้านร่างกาย เช่น ท่าทาง การขับถ่าย และจิตใจ เช่น ความเครียดหรือความวิตกกังวล

4. การทบทวนเหตุการณ์เพื่อปรับปรุง
หลังจากเหตุการณ์ ทีมงานและผู้ป่วยควรมีการพูดคุยเพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา

  • ทีมงานทบทวนกันเอง: เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการดูแล
  • พูดคุยกับผู้ป่วย: ให้กำลังใจและอธิบายเหตุผลของการดูแล
การจัดการผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรุนแรง ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัย แต่ยังสะท้อนถึง “ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ทีมผู้รักษาต้องไม่มองผู้ป่วยเป็นปัญหา แต่ต้องมองว่าพวกเขากำลังทุกข์ และต้องการความช่วยเหลือค่ะ

เหตุการณ์นี้สะเทือนใจหมอและบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นอย่างมากค่ะ เราต้องกลับมาทบทวนถึงวิธีการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่เหมาะสม ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม แต่เป็นคนที่กำลังทุกข์ทรมานและต้องการความช่วยเหลือจากเราอย่างมากจริงๆค่ะ



Credit : พญ.วิลาวัลย์ กำจรปรีชา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS