“People pleaser เอาใจทุกคนจนเราใจเจ็บ”


สวัสดีค่ะทุกคน หมอบีเองค่ะ ทุกคนเคยได้ยินคำว่า “People Pleaser” กันไหมคะ ต้องบอกก่อนว่าคำนี้ไม่ได้เป็นคำเฉพาะเจาะจงที่ใช้ในวงการจิตวิทยาขนาดนั้นนะคะ แต่ก็เป็นคำสั้นๆที่สามารถอธิบายภาพลักษณ์ของกลุ่มคนรูปแบบนี้ได้อย่างเห็นภาพทีเดียวค่ะ ใครที่กำลังสงสัยว่าเข้าข่ายนี้ หรือมีคนใกล้ตัวที่เป็นแบบนี้รึเปล่า ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันค่ะ

People Pleaser คืออะไร
People Pleaser คือ คำอธิบายของคนที่มักจะพยายามตามใจคนอื่นมากเกินไป ทำให้คนรอบข้างพอใจเสมอ ยึดความคิดเห็นและรู้สึกของคนอื่นมากกว่าตัวเอง ปรับเปลี่ยนตัวเองเสมอเพื่อให้คนอื่นสบายใจ อาจจะดูเหมือนเป็นคนใส่ใจคนอื่นอยู่ตลอดเวลาซึ่งก็น่าจะเป็นคนที่มีเสน่ห์มากๆคนนึงใช่ไหมคะ แต่ว่าความจริงแล้วกลับต้องแลกด้วยความเสียสละของตนเอง เพราะคนกลุ่มนี้จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับและความรักจากคนอื่น แม้ว่าต้องละเลยความรู้สึกและความต้องการของตัวเองก็ตาม

ลักษณะของ People Pleaser

  1. ชอบทำให้คนอื่นมีความสุข แม้ว่าต้องเสียสละความต้องการของตัวเอง ก็พร้อมที่จะทำเพื่อให้คนอื่นพอใจ
  2. กลัวการถูกปฏิเสธ รู้สึกกังวลเมื่อถูกปฏิเสธและมักจะยอมทำตามคำขอแม้ว่าตัวเองจะต้องลำบากก็ตาม
  3. ชอบขอโทษ แม้จะไม่ผิดก็จะขอโทษเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้
  4. ตอบตกลงเสมอ แม้ว่าจะไม่อยากทำสิ่งนั้นก็ตาม เพราะกลัวว่าถ้าพูด "ไม่" ก็กลัวจะทำให้คนอื่นไม่พอใจ
  5. ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น กลัวว่าการแสดงความคิดเห็นของตัวเองไม่สำคัญและอาจจะทำให้คนอื่นไม่พอใจ จึงมักจะเงียบและตามใจคนอื่น

อะไรถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนๆนึงต้องยอมแบกรับความรู้สึกของคนอื่นขนาดนั้น ลองมาฟังที่มาที่ไปกันดูค่ะ


สาเหตุของการเป็น People Pleaser
1. ประสบการณ์ในวัยเด็ก

- การที่เด็กๆเติบโตมาในครอบครัวที่มีความคาดหวังสูงหรือมีความต้องการความสมบูรณ์แบบจากพ่อแม่ บางทีอาจจะขาดการดูแลเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับความรักและการยอมรับ
- การที่พ่อแม่ไม่สนใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเด็ก ทำให้เด็กต้องพยายามหาวิธีให้พ่อแม่สนใจ โดยการทำให้คนรอบข้างพอใจ แสวงหาคำชื่นชมเพราะเขาแทบจะหาไม่ได้ในครอบครัว ฟังดูน่าเศร้านะคะ แต่เจอได้บ่อยมากจริงๆ

2. ขาดความมั่นคงทางอารมณ์

- คนที่มีปัญหาความมั่นคงทางอารมณ์มักจะมีความกลัวที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกตัดขาดจากคนอื่นในกลุ่ม จึงทำให้เกิดความพยายามที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ยอมได้ทุกอย่างเพื่อให้เธอพอใจ ประมาณนั้นค่ะ

3. การขาดความมั่นใจในตัวเอง

- มักจะรู้สึกว่าความต้องการและความคิดเห็นของตัวเองไม่มีความสำคัญ เลยพยายามทำตามคำขอของคนอื่นเสมอ


กลไกทางจิตวิทยาของการเป็น People Pleaser
1. เกิดจากความต้องการการยอมรับและความรัก

- มนุษย์มีความต้องการความยอมรับและความรักจากคนรอบข้าง การเป็น People Pleaser เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับความรักและการยอมรับจากคนอื่น

2. การกลัวการถูกปฏิเสธ

- คนที่เป็น People Pleaser มักจะกลัวการถูกปฏิเสธหรือการถูกตัดขาดจากคนอื่น จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

3. การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

- เป็นคำอธิบายจากข้อข้างบนเลยค่ะ การเป็น People Pleaser เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับความไม่พอใจของคนอื่น

4. การเรียนรู้พฤติกรรม

- คนที่เป็น People Pleaser มักจะเรียนรู้พฤติกรรมนี้จากประสบการณ์ในชีวิต เช่น การที่เอาใจคนอื่นแล้วทำให้ได้รับการยอมรับและความรัก ทำให้พฤติกรรมนี้ติดกลายเป็นนิสัย เหมือนเป็นการสร้างเงื่อนไขกับตัวเองขึ้นมาว่า ฉันต้องเอาใจคนอื่นเท่านั้นถึงจะเป็นที่ยอมรับ

เท่าที่อ่านมาก็ดูถ้าเรามีคนรอบตัวแบบนี้ก็น่าจะดี มีคนคอยเข้าใจคอยรับฟัง เอาใจใส่ตลอดเวลาดีซะอีก อยากได้เพื่อนแบบนี้มาอยู่ใกล้ๆจัง ถูกครึ่งนึงค่ะ คนที่เป็นปัญหาส่วนมากมักเป็นเจ้าตัวที่เป็น people pleaser มากกว่าคนรอบข้างค่ะ

ปัญหาใหญ่ๆที่คนเหล่านี้มักจะเจอคืออะไรบ้าง

  1. เครียด กังวลอยู่เสมอว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง
  2. วิตกกังวล กลัวว่าจะทำให้คนอื่นผิดหวังหรือไม่พอใจ ต้องคอยตรวจเช็คความรู้สึกของคนอื่นตลอดเวลา
  3. อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า รู้สึกไร้ค่าและไม่มีความสุขในชีวิตได้เลยทีเดียว
  4. มักถูกเอาเปรียบคนอื่นได้ง่ายๆ อาจโดนฉวยโอกาสในการขอความช่วยเหลือหรือทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับเรา

แล้วแบบนี้เราควรจะทำยังไงดีล่ะ ลองมาดูวิธีการแก้ไขกันนะคะ

  1. ฝึกปฏิเสธ เรียนรู้ที่จะปฏิเสธอย่างสุภาพและไม่รู้สึกผิด หมอบีได้เขียนบทความเรื่องการฝึกปฏิเสธไว้แล้วสามารถไปอ่านย้อนได้นะคะ
  2. ตั้งขอบเขต บอกให้คนอื่นรู้ว่าอะไรเป็นที่ยอมรับได้และอะไรไม่ได้เด็ดขาด ปกป้องตัวเองจากการถูกเอาเปรียบค่ะ
  3. ให้ความสำคัญกับความต้องการและความรู้สึกของตัวเองเป็นอันดับแรก ถามตัวเองเสมอว่า “ฉันโอเคไหม ไหวไหม”
  4. ฝึกแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะพูดในสิ่งที่คิดและไม่กลัวว่าจะทำให้คนอื่นไม่พอใจ บางเรื่องที่พูดอาจจะส่งผลกระทบ แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องพูดออกมาเพื่อแสดงจุดยืนของเราค่ะ ขอให้อยู่บนพื้นฐานการให้เกียรติกัน
  5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากมีปัญหาที่แก้ไขเองไม่ได้ ลองพูดคุยกับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาดูก็ไม่เสียหายนะคะ อาจจะได้คำแนะนำดีๆเพื่อพัฒนาเพิ่มเติม

การเป็น People Pleaser ผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามากเกินไปในระยะยาวสามารถทำให้คุณเหนื่อยล้าและหมดกำลังใจได้นะคะ หมอหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจและเริ่มหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้นค่ะ

อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์บทความนี้เพื่อส่งความรู้ดีๆ แก่คนรอบข้างและเป็นกำลังใจให้หมอกับทีมงานด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ



Credit : พญ.วิลาวัลย์ กำจรปรีชา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS