ใครๆก็ชอบคำชม แล้วชมแบบไหนถึงจะดี?


เด็กๆทุกคนอยากมีตัวตน อยากมีความสำคัญ และอยากได้รับการยอมรับ หลายครั้งเด็กๆก็จะแสดงพฤติกรรมเพื่อให้คนอื่นสนใจในสิ่งที่เขาทำ หากพ่อแม่ให้คำชมกับเขาอย่างเหมาะสม เขาก็จะรู้สึกดี เพราะคำชมเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อความรู้สึกของเด็กที่อยากได้รับการยอมรับ อยากมีคุณค่า โดยปกติแล้วเวลาที่เด็กได้รับคำชมจากการทำพฤติกรรมใด ก็จะทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อDopamine ออกมามากขึ้น พวกเขาก็จะรู้สึกมีความสุข มีกำลังใจและอยากจะแสดงพฤติกรรมนั้นออกมาอีก เพราะคำชมที่พวกเขาได้รับแสดงถึงการที่มีคนยอมรับในตัวพวกเขา

ในทางจิตวิทยา คำชมเป็นการให้แรงเสริมทางบวก (Positive reinforcement) ซึ่ง B.F. Skinner นักจิตวิทยาแนวพฤติกรรมนิยม ได้สรุปไว้ว่าพฤติกรรมของคนเราเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากผลกรรมที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมนั้น เขาให้ความสำคัญที่การชมเชยแทนการวิจารณ์ การชมเชยที่มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการย้ำส่วนดีๆของคนนั้นให้มากขึ้น


วิธีการให้คำชมที่เหมาะสม

- ชมที่ความพยายาม ความตั้งใจมากว่าผลลัพธ์ เพราะการชมนั้นเราคาดหวังว่าอยากให้เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้อีก แทนที่เราจะมุ่งไปที่ผลลัพธ์ หรือความฉลาดของเขา เราควรชมที่ความตั้งใจ ความพยายามในการทำสิ่งดีๆของเขา เพราะถ้าพ่อแม่ชมแต่ความเก่งความฉลาด เด็กก็จะมองแค่เรื่องความสามารถของตัวเอง หากวันใดที่เขาทำสิ่งนั้นไม่ได้เขาก็จะรู้สึกกดดัน หรือกังวลเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง แต่ถ้าพ่อแม่ให้คำชมในความตั้งใจ หรือความพยามของเด็ก เขาก็จะรู้ว่าความสามารถของเขาเปลี่ยนแปลงได้ วันใดที่เจอเรื่องที่เขาทำไม่ได้ เขาก็จะมีความพยายามทำให้ดีขึ้นได้

- ชมเมื่อสมควรชม ไม่ชมไปเรื่อยเปื่อย การให้คำชมต้องชัดเจน และตรงประเด็น ชมในเรื่องนั้นจริงๆ ชมเพื่อให้เขาพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ไม่ใช่ชมเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ดีอย่างเดียว แต่พ่อแม่ควรให้คำชมที่ตรงไปตรงมากับเด็กในเรื่องนั้น เพราะการชมที่เลื่อนลอย จะทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าพ่อแม่ไม่จริงใจ ไม่ใส่ใจในสิ่งที่เขาแสดงออก ยิ่งเป็นการเพิ่มความรู้สึกให้เด็ก เกิดเป็นความสงสัยในตนเองว่าเขาทำได้ดีจริงหรือไม่ หรือแม้แต่รู้สึกไม่เชื่อถือในคำพูดของพ่อแม่

- ชมที่ลักษณะนิสัยของเด็ก ในการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่าเมื่อเราได้รับการชมเชยที่นิสัยใจคอ เราจะยอมรับว่าลักษณะนิสัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา อย่างเช่น การทดลองทางจิตวิทยาของ Joan Grusec เขาให้เด็กแบ่งลูกแก้วให้เพื่อน และให้คำชมที่ต่างกัน โดยเด็กบางคนจะได้รับคำชมที่พฤติกรรมเมื่อเขาแบ่งปันของให้เพื่อน และเด็กอีกส่วนหนึ่งก็จะได้รับคำชมที่นิสัยของเด็กว่าเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนเอื้อเฟื้อ ซึ่งจากการทดลองนี้เด็กที่ได้รับคำชมที่นิสัยแสดงถึงความมีน้ำใจมากกว่าในเวลาต่อมา ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกมีลักษณะนิสัยที่ดีในเรื่องไหน ลองเพิ่มการชมเรื่องนั้นให้เขา เด็กก็จะรู้สึกดีและทำสิ่งนั้นต่อมา

จะเห็นได้ว่าใครๆก็ชอบชม เด็กๆเองก็เช่นกัน พวกเขาก็อยากได้รับคำชม ดังนั้นถ้าหากพ่อแม่รู้วิธีในการให้คำชมที่เหมาะสมกับเด็ก จะยิ่งเป็นการเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่า และเพิ่มความมั่นใจให้เด็กได้อีกด้วย



Credit : คุณจิราพัชร นิลแย้ม นิกจิตวิทยาคลินิก

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS