การเล่น (play) มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย เด็กมีการเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะการเล่นเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของเด็กๆ ที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน และยังทำให้ทุกครั้งที่เด็กเล่น จะมีการเรียนรู้เกิดขึ้น ได้เสริมสร้างพัฒนาทักษะ และช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน และเด็กยังได้เรียนรู้การเข้าสังคมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะร่วมมือ ทำตามกฎ ปรับพฤติกรรม และควบคุมตนเองเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนจะให้ความสำคัญการเรียนรู้เน้นไปในทางวิชาการมากกว่าการเล่น เช่น การท่องจำตัวอักษร คำศัพท์ การนับเลข การเขียนและอื่นๆมากกว่า ทำให้เวลาเล่นของเด็กลดน้อยลง ทั้งที่การเล่นมีความสำคัญอย่างมาก การเรียนรู้ผ่านการเล่นมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กอย่างแท้จริง ฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องให้เด็กๆได้มีเวลา มีโอกาสในการเล่นให้มาก และเพียงพอ
การเล่นสมมติ (Pretending) การเล่นเป็นบทบาทต่างๆทำให้เกิดการจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นหมอ เป็นเจ้าหญิง เป็นทหาร เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ เป็นพ่อแม่ ครอบครัว หรือการเล่นขายของ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะในการสื่อสาร การสร้างบทสนทนา การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงการมีความคิดสร้างสรรค์
การเล่นแบบมีกฎเกณฑ์ (Structured Play) การเล่นที่มีการกำหนดวิธีการเล่นและเป้าหมายของการเล่น ซึ่งอาจมีกติกาที่ไม่ซับซ้อน มีข้อตกลงร่วมกันง่ายๆ หรือมีการเล่นเป็นกลุ่ม เช่น การส่งบอล บอร์ดเกมส์ ซึ่งจะทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และผู้อื่นมากขึ้น และเรียนรู้การเคารพกฎกติกา การแบ่งปัน การรู้แพ้รู้ชนะ และการให้อภัยกันนั้นเอง
เมื่อเล่นเสร็จแล้ว การดูแลรักษาของเล่น ก็เป็นการเรียนรู้สำหรับเด็กได้เช่นกัน ทำให้เด็กเกิดวินัยในการเล่น ซึ่งหลังการเล่นทุกครั้งควรเก็บของเล่นให้เข้าที่ ไม่วางกระจัดกระจาย เพราะนอกจากดูไม่เรียบร้อยแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุได้ทั้งตัวเด็กและผู้อื่น เช่น สะดุดหรือลื่นล้มจากของเล่นที่วางอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เจ็บตัวได้ทั้งเล็กน้อยจนไปถึงถึงแก่ชีวิตได้ และการเช็ดทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยเฉพาะของเล่นที่เล่นร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
กิจกรรมที่ยกตัวอย่างข้างต้น ไม่ว่ากิจกรรมการเล่นแบบไหนก็ส่งเสริมให้เด็กๆเกิดการเรียนรู้ เกิดทักษะต่างๆกันไป ซึ่งผู้ปกครองสามารถคอยดูอยู่ห่างๆ ดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย สามารถให้ความช่วยเหลือได้หากเด็กๆขอความช่วยเหลือ แต่ให้เลี่ยงการบอกหรือลงมือทำให้ทั้งหมด เพื่อให้เด็กๆสามารถมีอิสระในการคิด การแก้ไขการจัดการกับปัญหาต่างๆด้วยตนเอง ทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวอารมณ์และพฤติกรรมตนเอง และวิธีการตอบโต้และการปฏิบัติตนกับผู้อื่น และยังช่วยพัฒนาความมั่นใจในตนเองอีกด้วย
ถ้าหากผู้ปกครอง พ่อแม่พอมีเวลา นักกิจกรรมบำบัดแนะนำว่าอย่าลืมให้เวลากับเด็กในการเล่น เพราะการเล่นคือพื้นฐานของพัฒนาการทั้งหมดของเด็ก
Credit : คุณปาณิศา สุรสีหนาท นักกิจกรรมบำบัด
ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์
ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS