ในสถานการณ์ปัจจุบันมักเต็มไปด้วยความเครียดและความกดดัน ในทุกช่วงวัยต่างกันไป โดยเฉพาะในโลกที่ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วในโลกออนไลน์ ในแต่ละวันย่อมต้องอดทนกับความไม่ถูกใจในหลายๆอย่าง
อารมณ์โกรธถือเป็นหนึ่งในอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นสัญชาตญาณการป้องกันตัวอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเพื่อป้องกันอันตราย จากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย ให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะ สู้ หรือ หนีแต่หากมีมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ย่อมส่งผลเสียกับทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
เมื่อมีอารมณ์โกรธ จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาวะในร่างกายหลาย อย่าง เช่น ร่างกายร้อนขึ้น หายใจเร็วแรงขึ้น หัวใจบีบตัวแรง กล้ามเนื้อตึงเครียด ตัวสั่น ปั่นป่วนในท้อง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายโดยเฉพาะผู้ทีมีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะ และอาการปวดศีรษะ ความโกรธที่เกิดขึ้นเรื้อรังย่อมทำให้อาการโรคเหล่านี้แย่ลงและควบคุมได้ยาก
วิธีจัดการความโกรธเบื้องต้นทำได้อย่างไรบ้าง
- รับรู้ตัวเองก่อนว่าเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมาแล้ว ข้อแรกฟังดูอาจจะเหมือนง่าย ใครจะไม่รู้กันบ้างว่าตัวเองกำลังโกรธ แต่ในบางครั้งกลับเป็นเรื่องง่ายที่ไม่ง่าย หลายครั้งจะพบว่าเรารู้สึกตัวว่าโกรธหลังจากที่ได้ตะโกน ต่อว่าหรือทำลายข้าวของไปแล้ว และกลับมารู้สึกเสียใจภายหลัง วิธีง่ายๆที่จะสามารถรู้ตัวได้เร็ววิธีหนึ่งคือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น หน้าร้อน ใจเต้นแรง กล้ามเนื้อเริ่มตึง รู้สึกเหมือนเลือดสูบฉีดในตัว จะทำให้รู้ตัวได้เร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะกระตุ้นอารมณ์โกรธ เช่น เลี่ยงการปะทะ หรือพบปะกับคนที่ไม่ชอบเท่าที่เป็นไปได้
- ขอเวลานอก วิธีนี้ไม่เพียงใช้ในเด็กเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ในทุกวัย เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เริ่มมีอารมณ์โกรธมากๆ ขอเวลานอกเพื่อไปสงบจิตใจในที่เงียบๆทำใจให้สบายก่อนที่ทุกอย่างจะระเบิดออกมา
- แม้จะพยายามเลี่ยงแต่บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่ชอบอยู่ดี ในกรณีนี้แนะนำให้ทำใจก่อนหน้าที่จะเผชิญเหตุการณ์ที่จะทำให้โกรธ เช่น ต้องไปพบเจอสถานการณ์กดดัน เมื่อมีการเตรียมใจมาก่อนจะสามารถควบคุมความโกรธได้ง่ายขึ้น
- นอกจากหาสาเหตุที่ทำให้ตนเองโกรธบ่อยๆแล้ว ควรหาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย
- เรียนรู้ที่จะให้อภัย ซึ่งการให้อภัยถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีพลังอย่างมาก สามารถปลดปล่อยตนเองจากความโกรธแล้ว ยังสามารถถนอมความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ด้วย
- ระบายความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ทำกิจกรรมที่ชอบ พูดคุยระบายกับคนสนิท ออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
- เรียนรู้การฝึกการผ่อนคลาย (relaxation technique) เช่น ฝึกการหายใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จินตนาการถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
- เรียนรู้ที่จะหาตัวช่วย ในกรณีที่รู้สึกว่าความโกรธนี้เริ่มควบคุมได้ยากผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลง แนะนำให้ปรึกษาเพื่อน คนรอบข้าง หรือผู้เชี่ยวชาญเช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อประเมินหาสาเหตุและวิธีแก้ไขต่อไป
หากใช้วิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผลการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เนื่องจากความโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย อย่าปล่อยให้อารมณ์โกรธเอาชนะความคิดของเราได้บ่อยๆค่ะ
Credit : พญ. วิลาวัลย์ กำจรปรีชา
ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์
ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS