ฝึกลูกอย่างไรไม่ให้เขียนตัวหนังสือกลับด้าน


การเขียนหนังสือกลับด้านหรือกลับหัว เป็นเรื่องที่สามารถพบได้ในเด็กปกติก่อนอายุ 7 ขวบ เนื่องจากการพัฒนาการเรื่องการรับรู้ทางด้านสายตาด้านการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุ (Position in space) ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กยังไม่สามารถแยกแยะซ้าย-ขวา บน-ล่าง นอก-ใน หน้า-หลังได้ แต่หากอายุ7ปีขึ้นไป ยังพบการเขียนกลับด้านบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์และได้รับการประเมินเพิ่มเติม เนื่องจากปัญหานี้มักพบในเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรือ Learning Disability (LD)

โดยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรือ LD มักจะเขียนตัวอักษรกลับด้าน เว้นวรรคไม่เหมาะสม เขียนไม่ตรงบรรทัด ปัญหาหาเหล่านี้เกิดจากความบกพร่องด้านการเรียนรู้ ทำให้ส่งผลต่อการเขียน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งการเขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษและตัวเลข เช่น b/d, p/q, u/n, ภ/ถ, พ/ผ, ด/ค

กิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในการรับรู้ตำแหน่งของวัตถุ (Position in space) คือ ฝึกเล่นกับสิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น ให้เด็กนำของเล่น ไปวางบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ ข้างเก้าอี้ และกิจกรรมจับคู่ภาพ จับคู่ตัวอักษรที่เหมือนกัน เป็นต้น ซึ่งต้องให้เด็กลองผิดลองถูกก่อน และควรเน้นฝึกทีละ 1 ตัวอักษร เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสน

ร่วมกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือกล้ามเนื้อมือ เช่น การลากนิ้วตามแบบตัวอักษร เขียนตัวอักษรบนกระบะทราย การปั้นดินน้ำมันเป็นตัวอักษร เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวมาสามารถนำไปส่งเสริมกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี ที่เขียนตัวอักษรกลับด้านได้ แม้ว่าจะไม่มีภาวะ LD ก็ตาม

หากยังพบพฤติกรรมการเขียนตัวอักษรกลับด้านบ่อยครั้ง อาจะส่งผลต่อการเขียนและการอ่านได้ ควรปรึกษาแพทย์และรับการประเมินจากนักกิจกรรมบำบัด เพื่อวางแผนส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมต่อไป



Credit : ปาณิศา สุรสีหนาท นักกิจกรรมบำบัด

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS