การทดสอบจิตวิทยาคืออะไร ทำไปทำไม แล้วมีการทดสอบอะไรบ้าง?


หลายคนอาจจะเคยทำแบบทดสอบทางอินเตอร์เน็ต เช่น ทายใจ ทายนิสัยต่างๆ หรือทดสอบความรู้ แล้วเข้าใจว่าคือการทดสอบทางจิตวิทยา แต่จริงๆการทดสอบทางจิตวิทยา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยาคลินิก (psychological test) คือ การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประกอบการวินิจฉัยของจิตแพทย์ เหมือนเป็นแล็ปของแผนกจิตเวช โดยแปลผลและรับรองผลโดยนักจิตวิทยาคลินิกผู้มีใบประกอบวิชาชีพนักจิตวิทยา

นักจิตวิทยาคลินิกจะใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ประเมินความสามารถ เชาวน์ปัญญา(IQ) เข้าถึงลักษณะบุคลิกภาพ กลไกในการแก้ปัญหา และความขัดแย้งภายในจิตใจ ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรม และสัมภาษณ์ทางคลินิก เพื่อหาสาเหตุของปัญหาทางจิตเวช สุขภาพจิต และความผิดปกติต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการบำบัดรักษาในกระบวนการด้านจิตเวช ซึ่งแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้

  • แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา (Intelligence Test)
  • แบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality or Psychotic Test)
  • แบบทดสอบพัฒนาการ (Developmental Test)
  • แบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality or Psychotic Test)
  • แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์และความบกพร่องทางการเรียน (Achievement Test)
  • แบบทดสอบทางจิตประสาทวิทยา (Neuropsychological Test)

แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา (Intelligence Test)
แบบทดสอบทางเชาวน์ปัญญา คือ แบบทดสอบที่ประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือที่เรียกว่า IQ ของบุคคลนั้น เมื่อเทียบกับบุคคลในระดับอายุเดียวกัน ซึ่งเป็นการประเมินการทำงานของสมองในส่วนของวิธีการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา รวมถึงสมาธิ ความจำ การใช้ภาษา และการลงมือปฏิบัติ ในการทดสอบทางเชาวน์ปัญญานี้จะทำให้ทราบจุดเด่น และจุดด้อยของแต่ละบุคคล นำไปสู่การส่งเสริม ฝึกฝน หรือกระตุ้นให้บุคคลนั้นมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับตนเองได้

แบบทดสอบบุคลิกภาพและพยาธิสภาพทางจิต (Personality or Psychotic Test)
แบบทดสอบบุคลิกภาพ คือ แบบทดสอบที่ใช้เพื่อประเมินบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยพื้นฐานของบุคคลที่แสดงออกในด้านอารมณ์ ทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการประเมินกลไกการป้องกันตนเอง การรับรู้ความเป็นจริง แรงจูงใจ และความสามารถในการเชื่อมโยงเรื่องราวในจินตนาการและความเป็นจริง สามารถใช้ในการจำแนกอาการทางจิต และเป็นการช่วยให้บุคคลได้รู้จักศักยภาพและเข้าใจกระบวนการคิด (mental process) ของตนเอง ซึ่งการเข้าใจเรื่องดังกล่างจะทำให้สามารถเกิดการพัฒนาตัวเองได้อย่างเหมาะสม และเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะต่างๆก็สามารถตอบสนองโดยเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับเหตุการณ์นั้นๆได้ เช่น การรับมือกับความเครียด การปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น

แบบทดสอบพัฒนาการ (Developmental Test)
แบบทดสอบพัฒนาการ คือ แบบทดสอบที่ใช้เพื่อประเมินการเจริญเติบโต กระบวนการเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม เช่น ความสามารถในการเดิน การพูด การเคลื่อนไหวหยิบจับ หรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความสามารถของเด็กที่เป็นไปตามลำดับขั้นของพัฒนาการ โดยการประเมินดังกล่าวเป็นการตรวจสอบว่าเด็กทำอะไรได้แล้วบ้าง ทำได้ดีในระดับไหน สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่ในระดับอายุเดียวกัน การทดสอบพัฒนาการจะทำให้ทราบว่าเด็กมีปัญหาหรือมีความเสี่ยงใด ที่อาจส่งผลให้พัฒนาการล่าช้า ที่ต้องได้รับการแก้ไข ส่งเสริม หรือกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย

แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์และความบกพร่องทางการเรียน (Achievement Test)
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ คือ แบบทดสอบที่ใช้ในการประเมินความสามารถทางการเรียนรู้ของเด็กในด้านการอ่านคำ ด้านการสะกดคำ และด้านการคำนวณ เมื่อเทียบกับเด็กที่เรียนในระดับชั้นเดียวกัน การประเมินดังกล่าวจะช่วยในการวินิจฉัยภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้หรือแอลดี ที่เด็กอาจจะมีปัญหาในการอ่านสะกดคำไม่คล่อง อ่านช้า อ่านผิด ไม่สามารถสรุปจับใจความเรื่องที่อ่านได้ สะกดคำผิด แบ่งวรรคผิด เขียนแล้วเว้นจนคนอื่นอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจจำนวน บวก ลบ คูณ หารไม่ถูก ซึ่งการทดสอบจะช่วยให้ทราบข้อจำกัดของเด็กและวางแผนการเรียนที่เหมาะสมให้กับเด็กต่อไปได้

แบบทดสอบทางประสาทจิตวิทยา (Neuropsychological Test)
แบบทดสอบทางประสาทจิตวิทยา คือ แบบทดสอบที่ใช้ในการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและการทำงานของสมองในด้านต่างๆ (Cognitive Function) โดยเฉพาะในส่วนของ visual-motor perceptions มิติสัมพันธ์ ความเข้าใจภาษา สมาธิ ความจำ เป็นต้น เพื่อประเมิน neuropsychological impairment เบื้องต้นในบุคคลที่มีแนวโน้มการเสื่อมของสมอง หรือใช้ในการติดตามผลของการบำบัดรักษา



Credit :

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS