ความหลากหลายทางเพศเรามีสิทธิ์ที่จะเลือก


เดือนพฤษภาคม (Pride Month) เป็นเดือนที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ได้แสดงออกถึงการมีตัวตนดำรงอยู่อย่างมีศักด์ศรีในความเป็นมนุษย์เหมือนกับผู้อื่น และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในเรื่องต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลกมีการจัดงาน เช่น การเดินขบวนพาเหรดโดยใช้สีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ ประเทศไทยเพิ่งได้จัดงานนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

ความเป็นมาของ Pride Month เริ่มจากเหตุจลาจลในเช้าตรู่วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ที่บาร์ “สโตนวอลล์ อินน์” ย่านแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าจับกุมกลุ่มคนรักร่วมเพศ ซึ่งในสมัยนั้นความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) เป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ พฤติกรรมที่ไม่ตรงกับเพศกายภาพ เช่น แต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง, มีความรักกับเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่คนมองว่าเป็นเรื่องชั่วร้าย วิปริต จนถึงขนาดที่ว่าถูกมองเป็นเรื่องเจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness) ต้องไปรับการบำบัดรักษากับแพทย์/จิตแพทย์/นักจิตบำบัด การรักษามีทั้งแบบที่ให้กินยาและไม่กินยา ยุคนั้นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไร้ซึ่งการเคารพ ไม่มีตัวตน ถูกกดขี่ข่มเหง ตีตราบาป มีสิทธิไม่เท่าเทียมกับคนที่เป็นชายจริงหญิงแท้ กระทั่งว่าตำรวจมีสิทธิ์เข้าจับกุมได้หากเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ลุกขึ้นยืนหยัด เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการกระทำความรุนแรงเสมือนว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ ไปประกอบอาชญากรรมที่สมควรได้รับการลงทัณฑ์ ให้ยุติการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จนปี 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศอย่างเป็นทางการให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride Month) ผู้คนเริ่มตื่นตัวพยายามทำความเข้าใจและให้การปฏิบัติกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

ส่วนองค์ความรู้ด้านจิตเวชที่แต่เดิมเชื่อว่าการมีความหลากหลายทางเพศถือเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness) รูปแบบหนึ่ง เช่น การรักเพศเดียวกัน ต้องให้การรักษา จุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนให้บุคคลนั้นกลับมามีจิตใจและปฏิบัติตัวตามเพศกายภาพได้ แต่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี 1973 สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association; APA) ได้ยกเลิกการวินิจฉัย "รักร่วมเพศ" จากคู่มือการวินิจฉัยปัญหาทางจิตเวช (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ; DSM) ความหลากหลายทางเพศไม่ได้จัดเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเวชอีกต่อไป เป็นแค่เพียงรสนิยมความชอบของแต่ละคนที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เสมือนหนึ่งการที่คนเราชอบรสชาติของอาหารต่างกันไป บางคนชอบเผ็ด เค็ม เปรี้ยว หวาน จืด ไม่จำเป็นต้องมีการตัดสินว่ารสชาติไหนเป็นรสชาติที่ดี ไม่ดีหรือแตกต่างจากพวก

สมัยก่อนการเรียนและรับรู้ข้อมูลเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีที่ดีพอ เช่น คนที่เผยแพร่สอนเรื่องต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชน เป็นนักบวชหรือผู้นำทางศาสนา ดังนั้นสิ่งที่คนรับรู้จะอิงความเชื่อจากหนังสือสอนศาสนา หลายศาสนาไม่เพียงแต่บอกว่าความดีความชั่วคืออะไร แต่ยังรวมไปถึงการควบคุมบวิถีการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ต้องเกิดระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น หากรักคนเพศเดียวกันถือเป็นบาปหนักที่ต้องรับการชดใช้ในนรก หรือความรักผิดเพศเช่นนี้เกิดจากภูติผีปีศาจดลใจ มายาคติเหล่านี้ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน หรือแม้แค่มีคนอื่นสงสัยว่าเขาเป็น จะนำไปสู่การลงทัณฑ์ทางสังคมที่รุนแรง บางครั้งอาจถึงแก่ชีวิต ส่วนใหญ่เลือกที่จะฝืนใจไม่เป็นตัวเองเพื่อให้ถูกใจคนอื่น หรืออาจแสดงออกแล้วถูกกีดกันกลั่นแกล้ง ทำให้เกิดความเครียดจนป่วยเป็นโรคทางจิตเวชตามมา เช่น โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล

ต่างกับในปัจจุบันที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นและการมีโซเชียลมีเดียช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างไร้พรมแดน ทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศรับรู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป “มีคนที่เหมือน/คล้ายกับเรา” มีการรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลที่สร้างความรู้ความเข้าใจกับคนในสังคม มีการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม เพราะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ “เป็นมนุษย์” เหมือนกัน เพียงแค่รสนิยมของเขาต่างจากคนอื่น ซึ่งความแตกต่างนี้ไม่ได้ส่งผลเสียที่ทำให้ใครต้องบาดเจ็บเดือดร้อนรุนแรงแต่อย่างใด

ถึงอย่างไรก็ตามคนบางส่วนยังไม่สามารถยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หากเราเป็นคนในกลุ่ม LGBTQIAN+ เราควรวางตัวในสังคมอย่างไร แต่ละทางที่เราเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เลือกที่จะเปิดเผยสถานะทางเพศ: บางคนเลือกที่จะบอกแค่คนสนิท แต่บางคนบอกออกสื่อไปเลย
- ข้อดี คือ ได้แสดงความเป็นตัวเอง เป็นการคัดคนที่จะเข้ามาในชีวิตว่ายอมรับตัวตนของเราได้มากน้อยแค่ไหน, เกิดความเคารพนับถือตัวเองที่เผชิญกับข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
- ข้อเสีย คือ อาจถูกคนเกลียด กลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติ เพราะเกิดจากอคติความไม่ชอบ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้

ถึงอย่างไรก็ตามคนบางส่วนยังไม่สามารถยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หากเราเป็นคนในกลุ่ม LGBTQIAN+ เราควรวางตัวในสังคมอย่างไร แต่ละทางที่เราเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

เลือกที่จะปิดบังตัวตนแล้วทำตามสิ่งที่สังคมคาดหวัง
- ข้อดี คือ ไม่ถูกมองว่าผิดจากพวก โอกาสเกิดดราม่าน้อย
- ข้อเสีย คือ ต้องเก็บกดฝืนบังคับเป็นคนอื่นตามที่สังคมอยากให้เป็น, เสียโอกาสที่จะได้ความรักอย่างที่ต้องการ



Credit : แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS