ชีวิตตอนเป็นนักเรียนสำหรับบางคนอาจเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุด แต่บางคนต้องทนทุกข์กับการไปโรงเรียน, ส่งการบ้าน และการสอบ
เด็กหลายคนมีความกังวลเรื่องการเรียน เช่น กลัวสอบได้คะแนนไม่ดี, กลัวสอบเข้าโรงเรียนอื่น/มหาวิทยาลัยไม่ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กกังวลมาจากมุมมองการให้คุณค่าของผู้ใหญ่และสังคมที่มีต่อเรื่องผลการเรียน
เด็กเรียนเก่งมักจะได้รับคำชื่นชม ส่วนเด็กที่มีผลการเรียนปานกลางหรือไม่เก่ง มักถูกผู้ใหญ่ดุต่อว่า, โดนเพื่อนล้อ, คุณครูไม่เข้าใจ ส่งผลให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) และไม่ได้รับการยอมรับ
“ปัญหาการเรียน” มีคำจำกัดความที่หลากหลายมาก ในที่นี้หมายถึง การที่เด็กมีความสามารถด้านการเรียนรู้เรื่องต่างๆ (ตามหลักสูตรบทเรียนของชั้นที่เรียนอยู่) น้อยกว่าเด็กในชั้นเรียนเดียวกัน รวมไปถึงคุณภาพของงานที่ทำส่ง, ความรับผิดชอบต่างๆ และทักษะที่ต้องใช้ในการเรียน
ปัญหาการเรียนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากตัวเด็กเอง, ครูผู้สอน, หนังสือ/อุปกรณ์การเรียน, สิ่งแวดล้อมในห้องเรียน/โรงเรียน, สภาพครอบครัว/การเลี้ยงดู, สถานะเศรษฐกิจและสังคมที่เด็กอาศัยอยู่ รวมไปถึงนโยบายของทางโรงเรียน/กระทรวงศึกษาธิการ
ปัญหาการเรียนของเด็กบางคนอาจเกิดจากแค่สาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่บางครั้งเกิดจากหลายๆปัจจัย ซึ่งการค้นหาสาเหตุของปัญหาการเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าเราไปเพ่งเล็งแค่ว่าปัญหามาจากตัวเด็ก (ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้) แต่ลืมมองหาสาเหตุอื่นๆที่อาจส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ การช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้นมักจะไม่ได้ผล เพราะปัญหาที่เป็นที่มาของการเรียนได้ไม่ดีไม่ได้รับการแก้ไขหรือถูกมองข้ามไป
บทความนี้จะพูดเรื่องปัญหาการเรียนที่เกิดจากข้อจำกัดของตัวเด็กเอง หากเราช่วยเหลือรักษาภาวะที่ทำให้เด็กเรียนได้ไม่ดี เด็กจะพัฒนาความสามารถเรื่องการเรียนได้ดีขึ้นอย่างมาก ข้อจำกัดของตัวเด็กแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ สาเหตุการเจ็บป่วยทางกาย และการป่วยเป็นโรคทางจิตเวชเด็ก
- สาเหตุการเจ็บป่วยทางกาย: เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องอวัยวะที่ใช้ในการเรียนรู้บกพร่อง เช่น ปัญหาสายตา (ตาสั้น/ตายาว/ตาเอียง), การได้ยินบกพร่อง (หูหนวก/เยื่อแก้วหูอักเสบ) ปัญหานี้เจอได้บ่อย หากแก้ที่สาเหตุ เช่น ให้เด็กใส่แว่น,ใส่เครื่องช่วยฟัง เด็กจะกลับมาเรียนได้ตามปกติ กรณีเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ต้องขาดเรียนบ่อยเนื่องจากอาการของโรคเอง หรือต้องขาดเรียนเพื่อไปทำการรักษา (เช่น หอบหืดรุนแรง, โรคไต, โรคมะเร็ง, โรคเลือด) ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนได้เต็มที่ หรือเด็กบางคนป่วยเป็นโรคที่ตัวโรคเองและ/หรือวิธีการรักษาโรคส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง เช่น โรคลมชัก (Epilepsy), การรักษามะเร็งด้วยการฉายแสง (Radiation) หรือให้คีโม (Chemotherapy)
เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือเรื่องการเรียนนอกเหนือไปจากหลักสูตรปกติ เช่น มีหลักสูตรที่จำเพาะสำหรับเด็กแต่ละคน (IEP – Individual Educational Program) เน้นการพัฒนาของตัวเด็กเอง ไม่ต้องประเมินผลเทียบกับเด็กคนอื่น, หากเด็กต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ ควรให้เด็กได้เรียนแม้จะอยู่ในโรงพยาบาล โดยเรียนเท่าที่ศักยภาพเด็กจะทำได้
- การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชเด็ก: คำๆนี้คงทำให้ผู้ปกครองหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กฟังแล้วไม่สบายใจอย่างมาก ยังมีคนบางส่วนเข้าใจว่า “โรคทางจิตเวช” คือ เป็นบ้า พูดคุยไม่รู้เรื่อง ดูแลตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถเรียนรู้หรือสอนได้
ซึ่งจริงๆแล้วเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะโรคทางจิตเวชเด็กนั้นมีหลายโรคที่ต่างจากโรคทางจิตเวชผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่โรคทางจิตเวชเด็กมักจะแสดงออกเป็นปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ปัญหาการเรียน ปัญหาพัฒนาการ เด็กที่ป่วยจะมีความแตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน สิ่งสำคัญมากของการรักษาโรคทางจิตเวชเด็ก คือ ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะสมองของเด็กมีความยืดหยุ่น ปรับตัวและ เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งต่างจากสมองของผู้ใหญ่
ส่วนใหญ่เด็กที่มีปัญหาการเรียน มักจะพบโรคทางจิตเวชเด็กร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD – Learning Disorder), โรคระดับสติปัญญาบกพร่อง (Intellectual Deficit) โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder), โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder)
หากเด็กที่มีปัญหาการเรียนจากการเป็นโรคทางจิตเวชเด็กได้รับการช่วยเหลือหลายด้านร่วมกัน (Multimodal Treatment) จากทั้งทีมแพทย์ที่รักษา, ครอบครัว, โรงเรียน, ชุมชน เช่น การกินยาตามข้อบ่งชี้, การฝึกกระตุ้นพัฒนาการ, การปรับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู, การช่วยเหลือจากทางโรงเรียน, การจัดหลักสูตรจำเพาะสำหรับเด็ก (IEP – Individual Educational Program) ผลการเรียนจะค่อยๆดีขึ้นตามศักยภาพที่เด็กควรทำได้ เมื่อเด็กเรียนได้ดีขึ้น จะช่วยให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem)
การสร้าง Self–esteem ที่ดีให้กับคนคนหนึ่งต้องสร้างกันตั้งแต่เล็ก ในวัยเด็กผลการเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อ Self–esteem ของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กได้รับการยอมรับจากคนอื่น รู้ว่าตัวเองมีคุณค่า (แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งจะไม่สามารถมี Self–esteem ที่ดีได้ เพราะ Self–esteem ที่ดีเกิดได้จากหลายอย่าง เช่นการมีความสามารถพิเศษอื่นๆ, การเป็นเด็กที่มีน้ำใจ ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง)
การที่เรามี Self–esteem ที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราจะรู้คุณค่าของตัวเอง รู้ว่าอะไรดีไม่ดี ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แบ่งปันความสุขให้คนอื่นได้
ในกรณีเด็กที่มีปัญหาการเรียนแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่ช่วยเหลือ เด็กจะโดนคนรอบข้างต่อว่าดูถูก ทั้งจากผู้ใหญ่รอบตัวและกลุ่มเด็กด้วยกันเอง เมื่อเด็กไม่ได้รับการยอมรับ เด็กจะคิดว่าตัวเองไร้ค่า ไม่ชอบการเรียนเพราะทำไม่ได้ บางคนอาจติดเกม ติดโซเชียลมีเดีย (Game Addiction/ Social media Addiction) พอเป็นวัยรุ่นจะเสี่ยงต่อการมีปัญหาพฤติกรรมที่เป็นอันตราย (Risk taking behaviors) เพราะเด็กคิดว่าตัวเองแย่ จนไม่มีอะไรจะเสีย หรืออยากได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนที่เข้าใจเค้า ซึ่งมักเป็นกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหาคล้ายๆกัน เช่น การใช้สารเสพติด, ทะเลาะวิวาท, แว้นซ์ ป่วนเมือง, การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้
การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการเรียน หากแก้สาเหตุและช่วยตรงจุด โดยทุกฝ่ายร่วมมือกัน เด็กสามารถที่จะเรียนได้ มีอนาคตที่ดี ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับตนเองและคนอื่น
เมื่อเจอเด็กที่มีปัญหาการเรียน ควรช่วยให้เด็กได้รับการประเมินเพื่อหาสาเหตุและรับการช่วยเหลือ โดยส่งปรึกษาบุคลากรที่ทำงานด้านนี้ เช่น จิตแพทย์เด็ก, กุมารแพทย์, นักจิตวิทยา
Credit : พญ. ปรานี ปวีณชนา
ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์
ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS