ความกลัว หรือความวิตกกังวล ถือเป็นหนึ่งในอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์มีไว้สำหรับการจัดการกับภยันตรายต่างๆที่เข้ามาคุกคาม ทำให้เราได้เตรียมตัวในการจัดการกับปัญหาต่างๆที่เข้ามาเมื่ออารมณ์นี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่หากระดับความวิตกกังวลสูงจนเกินไปก็จะทำให้มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ หลายครั้งผู้ป่วยมักมาด้วยอาการ เครียด คิดมาก วนอยู่ทั้งวันจัดการไม่ได้ คำปลอบโยนจากคนรอบข้าง เช่น ก็อย่าคิดมากสิ ไปนั่งสมาธิ ลองเข้าวัดดู มักไม่ช่วยและยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ ความจริงแล้วส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรู้ตัวเองว่าความคิดวกวนนี้มากเกินปกติ แต่ไม่รู้วิธีที่จะรับมือกับมันมากกว่า ซึ่งเมื่ออยู่ในภาวะนี้หลายครั้งกลับพบว่าเป็นมากกว่าความวิตกกังวลปกติ แต่กลายเป็นโรควิตกกังวลไปแล้ว
เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากพันธุกรรมมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล จากระดับสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล เกิดจากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความเครียดสูง อาจรุนแรงอันตรายต่อชีวิต ประสบการณ์เลวร้ายในอดีต การสูญเสีย พลัดพรากเป็นต้น
ขึ้นอยู่กับชนิดและกลุ่มของโรควิตกกังวล เช่น มีอาการตื่นตระหนก กลัว ไม่สบายใจ คิดวกไปวนมาจนรู้สึกเหนื่อยล้า กระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ หงุดหงิดง่ายขึ้น ไม่มีสมาธิ ปวดเมื่อยเนื้อตัว นอนไม่หลับ ในบางรายอาจพบอาการทางร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น มือเท้าเย็น เหงื่อออกมาก หายใจขัดๆ ใจหวิว แน่นหน้าอก มือเท้าชา เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และจากอาการข้างต้นจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การทำงาน ความสัมพันธ์
ซึ่งกลุ่มโรควิตกกังวลทางการแพทย์แยกย่อยไปอีกเป็นหลายโรค เช่น โรคแพนิก โรคกังวลทั่วไป โรคกลัวที่เฉพาะเจาะจง บางครั้งอาจพบโรคอื่นๆร่วมด้วยที่พบว่ามีอาการวิตกกังวลสูงเช่นโรคซึมเศร้า
ขั้นแรกเริ่มจากการพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หาตัวโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย จากนั้นเป็นการรักษาด้วยการให้ยา เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองที่ไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์วิตกกังวลได้ง่ายขึ้น ร่วมกับการทำจิตบำบัด เทคนิกการผ่อนคลาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความวิตกกังวลได้ดี
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสำรวจใจตนเอง ว่าขณะนี้ความเครียดของเราอยู่ในระดับสูงแค่ไหน อาจจะใช้การสอบถามจากคนใกล้ชิด แบ่งเวลาเพื่อใช้ในการผ่อนคลายหลายคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญในการพักผ่อน แต่เชื่อหรือไม่ว่าการจัดตารางพักผ่อนสำคัญมากพอๆกับการจัดตารางการทำงานทีเดียว ร่างกายและจิตใจที่สะสมความเครียดและไม่ได้ผ่อนคลายคล้ายกับน้ำที่เทลงในแก้วเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งน้ำก็จะล้นออกมาไม่สามารถควบคุมได้ น้ำก็เป็นเหมือนความเครียดที่เราต้องรับทุกวัน ต้องหมั่นเทออก เพื่อให้จิตใจเข้มแข็งอยู่ในภาวะปกติ สามารถทนกับความเครียดที่เข้ามาได้ หลายครั้งโดยเฉพาะในวัยทำงานพบว่าส่วนมากทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาผ่อนคลาย สุดท้ายอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการต่างๆข้างต้น การจัดชีวิตให้สมดุลจะช่วยให้การทำงานและชีวิตด้านอื่นๆสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น กิจกรรมผ่อนคลายสามารถเลือกได้ตามความชอบส่วนบุคคล เช่น ดูหนังที่ชอบ ฟังเพลงโปรด ทำอาหาร เล่นกีฬา ไปพบปะเพื่อนฝูงครอบครัว
อย่าให้ร่างกายจิตใจแบกรับภาระความเครียดวิตกกังวลนานจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้ระดับความวิตกกังวลสูงกว่าปกติจนกลายเป็นโรควิตกกังวลได้ หากสงสัยว่าตนเองเข้าข่ายที่จะเป็นอย่าลังเลที่จะไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป
Credit : พญ.วิลาวัลย์ กำจรปรีชา
ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์
ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS