อยู่อย่างไรให้รอดในยุคโควิด


เหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้คงจะไม่พูดถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ไม่ได้ เพราะนอกจากผลกระทบต่อสุขภาพกายแล้ว ผลกระทบด้านจิตใจที่ตามมาทั้งจากความเจ็บป่วยเอง หรือผลต่อสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจก็เป็นประเด็นที่ทุกคนกำลังวิตกกังวล การใช้ชีวิตวิถีใหม่ New normal อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายในเวลาอันรวดเร็วทำให้คนจำนวนไม่น้อยปรับตัวไม่ได้ ปรับตัวไม่ทัน บางครอบครัวต้องสูญเสียคนที่รักไปจากผลกระทบขของสถานการณ์การระบาดครั้งนี้

จะอยู่อย่างไรในยุคโควิด

“It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligence that survives. It is the one that is most adaptable to change” ….Charles Darwin

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า ความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence quotient, IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional quotient, EQ) กันมาแล้ว แต่ในยุคนี้ Resilience คงจะเป็นอีกคำที่ไม่รู้จักไม่ได้ Resilience quotient, RQ คืออะไร Resilience แปลว่า ความหยืดหยุ่น หมายถึงความสามารถในการกลับคืนสภาพเดิม สรุปง่ายๆ Resilience quotient ก็คือความสามารถในการฟื้นตัวหลังการเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก …RQ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเท่านั้น RQ เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
  1. การทนต่อแรงกดดัน
  2. มีกำลังใจเข้มแข็ง
  3. การต่อสู้เอาชนะอุปสรรค

คำแนะนำ 7 ข้อ เพื่อพัฒนา RQ ในการรับมือกับวิกฤต

  1. ปรับอารมณ์ ไม่หมกหมุ่นกับอารมณ์เศร้าหมอง แม้ในวิกฤตชีวิตก็คงยังมีเรื่องที่ทำให้เรายิ้มหรือหัวเราะได้บ้าง แต่หากไม่มีเลย ลองหากิจกรรม เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง เปลี่ยนเรื่องเครียดให้เป็นอารมณ์ขัน ดูหนังหรืออ่านการ์ตูนตลกที่สร้างเสียงหัวเราะให้คุณได้
  2. ปรับความคิด มองโลกในแง่ดี มีความหวัง ชื่นชมตนเองและสิ่งรอบข้าง แม้จะเป็นความสุขหรือความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ มันก็คือความสุข ความสำเร็จเหมือนกัน และอย่าลืมแบ่งเวลาในการพักความคิด ให้มันได้ผ่อนคลายบ้าง
  3. ปรับเป้าหมาย ลองกำหนดเป้าหมายระยะสั้น แบ่งเป้าหมายให้เป็นงานย่อยลงความสำเร็จก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่หากอุปสรรคมันหนักหนาเกินไป ลดความคาดหวังและปรับเป้าหมายให้เล็กลงสัดนิดค่ะ
  4. ปรับการกระทำ ลงมือทำเมื่อได้ผ่านการใช้ความคิดและวางแผนการแก้ปัญหาแล้ว อย่าทำซ้ำในสิ่งที่เคยทำแล้วไม่ได้ผลในอดีต โดยเฉพาะถ้าเคยทำมาหลายครั้งแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แก้ด้วยวิธีการเดิมก็ได้ผลลัพธ์แบบเดิม รวมทั้งเริ่มลงมือทำกิจกรรมเพื่อดูแลตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การพักผ่อนเพียงพอ และเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพตัวเอง
  5. มีศรัทธา เชื่อว่าเราจะผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคต่างๆไปได้ มีความหวังถึงความสำเร็จและสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  6. หามิตร พูดคุย สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนที่คุณไว้ใจ ความรู้สึกผูกพัน มีส่วนช่วยให้เราก้าวข้ามวิกฤตในชีวิตได้ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ และบางครั้งเราก็ต้องการตัวช่วยเช่นกัน
  7. เปิดมุมมอง มองโรคและสถานการณ์ตามจริง สถานการณ์นี้กระทบกับคนทั่วโลก ไม่ใช่เราเท่านั้นที่ต้องเผชิญอุปสรรคและแก้ปัญหาเพียงลำพัง

หากคุณยังแก้ปัญหาไม่ตก คุณยังมีผู้ร่วมชะตาเดียวกันอีกมากมาย อย่าท้ออย่ายอมแพ้ หากคุณผ่านพ้นวิกฤตไปได้แล้ว อย่าลืมที่จะแบ่งปันความสำเร็จของคุณไปให้ลูกน้อง ให้เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นๆ ที่ยังต้องการความช่วยเหลือและกำลังใจจากคุณนะคะ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ



Credit : แพทย์หญิงนงนุช สัตกรพรพรหม

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS