ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากๆของหลายๆคนและหลายๆองค์กร ซึ่งหมอมีโอกาสได้เข้าไปให้คำปรึกษาทั้งในระดับของตัวบุคคลและระดับบริษัทอยู่บ่อยครั้ง ปัญหาหนึ่งที่มีผู้เข้ามาปรึกษามากที่สุดคือเรื่องภาวะหมดไฟ หรือ Burn Out นั่นเอง ซึ่งถือเป็นภาวะที่มีหลายๆคนทราบว่ามีอยู่ แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจมันดีนัก วันนี้หมอเลยจะขอมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Burn Out เพื่อให้ทุกคนได้ลองไปประเมินตนเอง สังเกตคนรอบข้างที่เราห่วงใย และ เรียนรู้ที่จะป้องกัน หรือหาทางรักษาหากเรากำลังเป็นอยู่ หรือเสี่ยงที่จะเป็นภาวะดังกล่าว
Burn Out คืออะไร
Burn Out Syndrome เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับทั้งทางร่างกายและจิตใจ (ส่วนใหญ่เป็นทางด้านจิตใจมากกว่า) ที่เกิดขึ้นจากการความเครียด ในการทำงาน หรือการต้องรับภาระงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวรู้สึกไม่มีความสุข ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จนถึงขนาดเลวร้ายที่สุดคือ นำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชอื่นๆที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
Burn Out เกิดได้อย่างไร
ส่วนใหญ่สาเหตุของ Burn Out มาจากการทำงาน ซึ่งหากจะแยกปัจจัยที่เป็นต้นเหตุอาจจะแบ่งออกได้เป็น
ปัจจัยที่มาจากฝั่งของงาน
- ภาระงานที่มากเกินไป
- การวางระบบงานที่สับสน ไม่มีขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าตนเองต้องทำอะไร แค่ไหน ถึงจะเหมาะสม
- การพิจารณาความดีความชอบ หรือการประเมินผลงานที่ไม่ชัดเจน ผู้ปฏิบัติงานไม่รู้ว่าตนเองจะถูกประเมินผลงานจากอะไรบ้าง บางครั้งรู้สึกเหมือนทำอะไรไปก็ไม่มีความหมาย ไม่มีตัวตนในบริษัท
- การขาดระบบการ support ในการทำงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่ง
- การต้องทนทำงานที่ขัดต่ออุปนิสัย คุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน
- งานบางชนิดที่โดยธรรมชาติของงานมีความเครียดสูง
ปัจจัยที่มาจากฝั่งของผู้ปฏิบัติงาน
- ขาดการจัดสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิต ( Work-Life Balance )
- มีความจริงจัง คาดหวังในการทำงานมากเกินไป ทำอะไรก็ต้องการให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ทำให้ต้องใช้เวลาและพลังงานไปกับการทำงานมากจนเกินไป
- บุคลิกภาพที่ไม่ยืดหยุ่น ปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆไม่ค่อยได้
- ไม่ค่อยมีทักษะในการจัดการความเครียด
- คนที่ใช้ชีวิตตามลำพัง ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือ มีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้ไม่มีคน support ในเวลาที่ได้รับความกดดันมาจากฝั่งที่ทำงาน
ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่ายๆให้เห็นภาพกันชัดๆคือ ถ้าเปรียบพลังงานชีวิตของคนเราเป็นน้ำที่ใส่อยู่ในเหยือกอันหนึ่ง บางคนมีต้นทุนมาดี มีน้ำอยู่เยอะ ก็เหมือนคนที่มีพื้นฐานสุขภาพจิตที่ดี มีความคิดที่ยืดหยุ่น รู้จักหาวิธีในการจัดการความเครียดได้ดี บางคนโชคดีกว่านั้น คือการมีคนข้างหลังคอย support เรา เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง ก็หมือนมีคนคอยเอาน้ำมาเติมให้เราได้เวลาของขาด
น้ำในเหยือกนี้จะถูกใช้ไปเรื่อยๆเวลาที่เราทำงาน และจะได้รับการเติมเข้ามาเวลาที่เราได้พักผ่อน หรือทำอะไรที่ผ่อนคลาย ดีต่อใจ (เหมือนรถที่ขับๆไปก็ต้องคอยเติมน้ำมัน)
ทีนี้สมดุลของน้ำเข้าน้ำออกนี่แหละ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราใช้พลังกับการทำงานไปมาก (เพราะงานมันหนักมาก เครียดมาก หรือเราจะเอาความ Perfect มากๆ ) และน้ำที่จะเติมเข้ามามันไม่ทันกัน เราก็จะเจอกับภาวะ “ของขาด” ซึ่งก็จะนำไปสู่ ภาวะ Burn Out นั่นเอง
ฝรั่งคนคิด Burn Out เค้ามองอีกแบบ แทนที่จะเป็นน้ำ เค้ามองเป็น ”ไม้ฟืน” แทน แต่ก็หลักการเหมือนกันคือ วันไหนเผาไปมาก ฟืนมันหมด เติมไม่ทัน วันนั้นก็ “หมดไฟ” ไงครับ
Burnout มีความสำคัญแค่ไหน
จากข้อมูลในต่างประเทศพบภาวะนี้ได้ประมาณ 15-50% ของคนทำงาน ในอังกฤษพบจำนวนผู้ป่วย กว่า 5 แสนคน ทำให้เกิดการสูญเสียวันทำงานไปถึง 12.5 ล้านวันต่อปี เพราะ Burn Out ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของพนักงาน ในทางกายพบว่าคนที่ burnout จะลาป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 2-7 เท่า ส่วนในด้านสุขภาพทางจิตใจพบว่าคนที่ burnout มักจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน โกรธง่าย ขี้หงุดหงิด และสุดท้ายหากเป็นมากๆ ก็จะเป็นโรคซึมเศร้าได้
ในแง่ที่กระทบกับการทำงานก็คือ คนเหล่านี้จะมีสีหน้าไม่รับแขก ซึ่งก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า ไม่มีความกระตืนรือร้นในการทำงาน ขาดความคิดสร้างสรร ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรแย่ลง และมักนำไปสู่การลาออกของพนักงานด้วย
วงจรของ Burn Out
Burn Out ไม่ใช่ภาวะที่อยู่เฉยๆก็เกิดขึ้นเองได้ แต่มันจะมีพัฒนาการของมันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานใหม่ๆ หรือเรียกว่าช่วงไฟแรง แล้วมีการเดินทางไปเรื่อยๆ ในแต่ละระยะจะมีทางแยกให้เราเลือก ซึ่งหากเราเลือกทางที่ไม่ถูกต้องก็จะพาเราไปสู่ความหมดไฟในที่สุด
- ระยะพิสูจน์ตนเอง (compulsion to prove oneself) เมื่อเริ่มงานใหม่ แต่ละคนจะมีภาพของตัวเอง และองค์กรในอุดมคติ ที่ต้องการจะพิสูจน์ตนเอง เพื่อให้เพื่อนร่วมงานหรือองค์กรตระหนักถึงตนเอง ว่ามีความเหมาะสมคู่ควรกับองค์กร
- ระยะทำงานหนัก (working harder) ในการพิสูจน์ตัวเองมีหลายทางให้เลือก แต่คนจำนวนหนึ่งจะคิดว่าตนเองจะต้องทำงานให้หนัก เพื่อที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเราเป็นบุคคลที่ไม่สามารถหาคนอื่นมาทดแทนได้ ทุ่มเทและสนใจแต่กับการทำงาน
- ระยะไม่ใส่ใจความต้องการของตนเอง (neglecting their needs) เมื่อทำการทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างมากจนเรียกได้ว่า“บ้างาน” ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบกับชีวิตส่วนตัวบ้าง คนที่ในอนาคตจะเป็น Burn Out นั้น มักจะเริ่มเลือกที่จะละเลยความต้องการพื้นฐานของตนเอง เช่น ไปเที่ยวน้อยลง หอบงานไปทำที่งาน เสาร์-อาทิตย์ก็ยังทำงาน นอนน้อย ทำงานจนดึกดื่น ใช้เวลากับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวน้อยลง
- ระยะเริ่มเกิดความขัดแย้ง (displacement of conflicts) เมื่อทุ่มเทกับงานละเลยชีวิตส่วนตัวไปถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองมันมีบางอย่างที่ “ไม่ปกติ” เช่นเริ่มมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งบางคนถ้ารู้ตัวแล้วถอยกลับมา ก็จะดีขึ้น แต่บางคนก็ยังเลือกที่จะเดินไปต่อในเส้นทางของงาน
- ระยะปรับคุณค่าใหม่ (revision of values) เมื่อความรู้สึกขัดแย้ง สับสนในตัวเองดำเนินมาระยะหนึ่ง ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรที่เป็นสิ่งที่มี "คุณค่า" มากกว่ากัน ซึ่งคนที่จะ burnout จะมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ “งาน” ทำให้ยิ่งละเลยความต้องการพื้นฐานของร่างกายและความสัมพันธ์อื่นๆ ไปจนหมดสิ้น
- ระยะปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหา (denial of emerging problems) เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในใจตนเองคนที่ burn out จะเริ่มไม่สนใจหรือไม่รับรู้เรื่องอารมณ์ และเริ่มแสดงอาการบางอย่างของ burnout ออกมาให้เห็น เช่น ขาดความอดทน โกรธง่าย ดูก้าวร้าว มักจะต่อว่าหรือโทษคนอื่น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นตัวเองนั่นแหละที่เปลี่ยนแปลงไป
- ระยะแยกตัว (withdrawal) พอเริ่มที่จะอยู่กับคนอื่นไม่ค่อยได้ เพราะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง คนที่ burn out จะเข้าสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำงานโดยแทบไม่มีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ทำงานแบบยึดติดกับกฏอย่างเคร่งครัด ไม่ทำเกินกว่านั้นแม้ว่าจะทำให้ผลงานดีขึ้นหรือเป็นประโยชน์กับองค์กรก็ตาม
- ระยะพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง (obvious behavioral changes) เมื่อแยกตัวจากคนอื่นไปนานๆ ก็จะมีพฤติกรรมที่แปลกแยกมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง คนภายนอกจะสามารถสังเกตเห็นความแปลกได้อย่างชัดเจน จากคนที่เคย ร่าเริง มีความสุข กลายเป็นคนเก็บตัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว ดูทุกข์ และไม่ค่อยดูแลตัวเอง
- ระยะขาดความเป็นบุคคล (depersonalization) เข้าใจง่ายๆเลยคือทำตัวเป็นเหมือนหุ่นยนต์ ทำงานเดิมๆ แบบให้จบไปวันๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่อยากได้ใคร่ดีกับเรื่องใดๆ
- ระยะว่างเปล่าภายใน (inner emptiness) ในระยะนี้ผู้ที่เป็น burn out จะรู้สึกว่าภายในใจตัวเองว่างเปล่า ซึ่งคนโดยทั่วไปย่อมไม่อยากทนอยู่ในสภาพนี้ จึงต้องแสวงหาอะไรที่จะมากระตุ้นให้ชีวิตตนเอง มีรสชาด มีสีสัน ซึ่งกิจกรรมบางอย่างที่ต้องใช้ความพยายามหรือต้องทุ่มเทเวลาให้ คนที่ burn out ก็จะไม่ค่อยอยากไปทำ เพราะคิดว่าจะทำให้เสียเวลาทำงาน ทำให้คนพวกนี้อาจหันเหไปทำกิจกรรมอื่นที่ได้รับความสุข แบบรวดเร็ว ฉาบฉวย แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติด
- ระยะซึมเศร้า (depression) ระยะนี้อาการจะเหมือนกับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเลยครับ ลองไปอ่านเพิ่มเติมในบทความที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าดูนะครับ
- ระยะ burnout syndrome สุดปลายเส้นทาง ผู้ป่วยมักจะทนรับสภาพที่เป็นอยู่ไม่ไหว อยากหนีจากสถานการณ์ที่ประสบอยู่ เช่น ลาออก หรือหนีไปไม่มาทำงานดื้อๆ บางคนอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
อาการเด่นๆของ Burn Out
- ความเหนื่อยหน่ายด้านอารมณ์ (emotional exhaustion) ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อย เบื่อ เซ็ง อ่อนเพลีย ไม่กะตือรือร้นในการทำงาน คือใจมันเหนื่อย ทั้งๆที่ไม่ได้ไปออกกำลังกายที่ไหน
- การลดความเป็นคน (depersonalization) ทำตัวเหมือนไม่ใช่คน ก็คือเป็นหุ่นยนต์นั่นเอง ดูไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่ยินดียินร้าย ปฏิบัติกับคนรอบข้างอย่างแห้งแล้ง แข็งๆ ไม่มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- การลดความสำเร็จส่วนบุคคล (decreased occupational accomplishment) รู้สึกว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ และมองตัวเองในแง่ร้าย ไม่มีความทะเยอทะยาน บางคนอาจจะใช้คำยอดฮิตที่ว่า “ขาด passion”
อาการอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง
มีอาการอีกมากมายที่อาจจะเกี่ยวข้อง หรือเป็นสัญญาณของภาวะ Burn Out ได้ด้วย
ปวดเรื้อรัง ; เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดต้นคอ
นอนไม่หลับ
อารมณ์ ; โกรธง่าย หงุดหงิด หดหู่
พฤติกรรม ; ไม่กะตือรือร้น เหวี่ยง ก้าวร้าวกับคนรอบข้าง
การทำงาน ; ประสิทธิภาพลดลง ไม่มีสมาธิ ทำงานผิดพลาด ขาดงาน มาสาย ลาบ่อย ไม่รับผิดชอบ
จะป้องกันการเกิด Burn Out ได้อย่างไร
หากสาเหตุมาจากทั้งฝั่งที่ทำงานและตัวบุคคล การป้องกันก็ต้องแยกออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นกัน
การปรับในส่วนบุคคล
- เรียนรู้วิธีจัดการเมื่อเกิดความเครียด
- มีเทคนิคในการจัดการความเครียดที่หลากหลาย
- มีวิธีคิดที่ยืดหยุ่นในการจัดการกับปัญหา
- รู้จักขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
- จัดสมดุลชีวิตกับการทำงาน (Work Life Balance ) ให้เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ หมอจะขอยกยอดไปพูดเรื่องนี้เต็มๆอีกที ในคราวหน้านะครับ
การปรับในระดับองค์กร
- มีโครงสร้างการทำงานที่ดี ภาระงานเหมาะสม
- มีการบริหารจัดการที่ดี แต่ละคนมีขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจน
- สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี ความเป็นมิตร ช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม
- สนับสนุนให้พนักงานมี Work Life Balance ที่ดี มีเวลาพักผ่อน เวลาสำหรับการไปพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ
ถ้า Burn Out เกิดขึ้นกับเรา จะทำอย่างไร
จากวงจรของการ Burn Out ที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ หากพบว่าตนเองอยู่ในประมาณระยะที่ 7 ขึ้นไปควรเริ่มปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะที่10-12 เป็นระยะที่ควรไปพบจิตแพทย์อย่างเร่งด่วน ซึ่งการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ในระยะท้ายๆการรักษาจะคล้ายกับการรักษาของโรคซึมเศร้าที่จะต้องมีการกินยากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนในระยะแรกนั้นๆ การรักษาอาจเน้นไปที่การปรับวิธีคิด และปรับลักษณะการทำงานให้ได้สมดุลมากขึ้น ตามที่กล่าวถึงไปในหัวข้อเรื่องการป้องกัน