จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2020 ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นศูนย์ แม้จะคุมได้สักระยะแต่ก็จะมีการติดเชื้อระลอกใหม่เกิดขึ้นและมีเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งการระบาดของโรคนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของทุกคน มีมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องทำเพื่อลดการระบาดแพร่เชื้อของโรค หนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญมาก คือ การแยกอยู่ห่าง (social distancing) เพื่อลดการสัมผัสเชื้อระหว่างกัน ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่จากการไปเรียนที่โรงเรียนหรือไปทำงานสถานที่ทำงาน มาเป็นการเรียน/ทำงานอยู่กับบ้านให้มากที่สุด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างได้รับผลกระทบกันหมดไม่มากก็น้อย
ปัญหาที่เด็กและผู้ใหญ่ต้องเจอจากการเรียนออนไลน์/ work from home มีลักษณะที่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่น
- สิ่งแวดล้อมในบ้านไม่เอื้อต่อการเรียน/การทำงาน สถานที่เดิม ๆ น่าเบื่อ รู้สึกขาดอิสระ เหมือนถูกขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่คับแคบ ขาดบรรยากาศและแรงจูงใจที่จะเรียน/ทำงานเรียน (sustain motivation) ซึ่งที่บ้านไม่สามารถทำได้ เช่น ไม่เจอคนอื่นที่ช่วยกระตุ้นให้ต้องทำสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ทำให้รู้สึกเนือย ๆ เบื่อ หมดไฟ
- จะทำอะไรแต่ละอย่างรู้สึกลำบากมาก เช่น การติดต่อประสานงานกับคนอื่น แทนที่จะเจอหน้ากันคุยแล้วได้คำตอบทันทีและช่วยกันทำงาน กลับต้องส่งข้อความ/โทรตาม รอคำตอบจากอีกฝ่าย ยิ่งเป็นงานที่ต้องประสานงานกันหลายส่วน กว่าจะได้คำตอบแต่ละทียากแสนยาก เพราะติดหลายอย่าง
- ขาดความสุขและรางวัลที่ได้จากการไปเรียน/ทำงานในสถานที่จริง เช่น ความสุขของเด็กบางคนมาจากการเจอเพื่อน, ผู้ใหญ่อยากแต่งตัวให้ดูดีเพื่อให้เพื่อนร่วมงานชม, ได้ไปกินข้าวเม้าธ์มอยกับกลุ่มคนที่สนิทกัน
- การที่ต้องแยกห่างจากสังคม (social isolation) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวล (Anxiety) การที่ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) ไปสักระยะหนึ่ง เมื่อตอนกลับเข้าไปอาจจะเกิดความกังวลในการเข้าสังคมได้ (social anxiety)
- กรณีของเด็กที่อยู่ในช่วงที่สมองมีการพัฒนาในทุกด้าน การไม่ได้เจอเพื่อน ครู ทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาเรื่องการเข้าสังคมและการสื่อสาร (social and communication skills) ที่เหมาะตามวัย อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ผลการเรียนลดลง, สภาพจิตใจแย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นที่พัฒนาการด้านต่างๆขึ้นอยู่กับเพื่อนและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างเพื่อค้นหาตัวเอง (self-identity) ผ่านสิ่งแวดล้อมที่ได้พบเจอ ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน หากขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไป (social interaction) ไป เด็กอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมและความเข้าใจในตนเองได้
- การเรียน/ทำงานออนไลน์ต้องใช้ความพยายามและสมาธิ (mental effort) มากกว่าปกติ เพราะการเรียน/ทำงานออนไลน์เป็นการสื่อสารที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดข้อมูลด้านภาษากายไป (nonverbal language) สมองต้องทำงานอย่างหนักในการทำความเข้าใจประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ (process information) จนเกิดความเครียดเหนื่อยล้า มีศัพท์เรียกความเหนื่อยล้านี้ว่า “zoom fatigue”
- ไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อกับการเรียน/การประชุมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ยิ่งเด็กเล็กเท่าไรยิ่งจดจ่อยาก บางคนเล่นเกมออนไลน์หรือทำอย่างอื่นระหว่างการเรียน/การทำงานออนไลน์ ทำให้ประสิทธิภาพลดลง
- การเรียน/การทำงานออนไลน์ทำให้ไม่มีเส้นตัดระหว่างเวลาเรียน/ทำงาน ไม่มีเวลาส่วนตัว ทั้งที่แต่เดิมเวลาเลิกเรียน/เลิกงาน เราสามารถไปใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการได้ แต่เมื่อเป็นระบบออนไลน์ทำให้ต้องเรียน/ทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน เพราะกลายเป็นว่าเวลาที่อีกฝ่ายต้องการผลงานหรือข้อมูลสามารถติดต่อออนไลน์ได้ตลอด ยากที่จะปฏิเสธ บางคนตื่นตัวกังวลต้องนั่งเฝ้าอุปกรณ์ออนไลน์ว่าจะมีข้อมูลอะไรเด้งขึ้นมา ถ้าไม่รีบทำอาจโดนตำหนิต่อว่าได้ ส่งผลให้ตารางกิจวัตรประจำวันพังได้
- งานบางอย่างไม่สามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้หรือหากทำผ่านออนไลน์จะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น งานที่ต้องลงมือปฏิบัติ
- คนที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอยู่เดิม (mental health disorders) การเรียน/ทำงานออนไลน์ส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD- Attention Deficit Hyperactivity Disorder) มีอาการมากขึ้นจากการใช้หน้าจอเป็นระยะเวลานาน, คนที่เป็นโรคซึมเศร้า (Depression) หนึ่งในวิธีการรักษา คือ การที่ต้องออกไปทำกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เมื่อต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว ทำให้รู้สึกตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ เหงา อ้างว้าง (Loneliness) อาการจะยิ่งแย่ลง
- คนที่ไม่ได้มีโรคทางจิตเวชอยู่เดิม เมื่อต้องเจอกับความเครียดและกดดันจากการเรียน/ทำงานออนไลน์ อาจทำเกิดการเจ็บป่วยทางใจได้ เช่น โรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวล (Anxiety)
- การใช้เวลากับ social media มากขึ้น อาจทำให้เสพติด (addiction) หรือรับข่าวสารข่าวแย่ๆมากเกินไปจนวิตกกังวล
- การใช้เวลาอยู่กับคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น บางครั้งทำให้มีความขัดแย้ง ทะเลาะกันมากกว่าเดิม เช่น บางบ้านไม่ได้มีพื้นที่มากพอที่จะแบ่งโซนการเรียน/การทำงานของแต่ละคนได้ชัดเจน ผู้ปกครองประชุมอยู่แล้วเด็กส่งเสียงดังรบกวน ทำให้ต้องมีการต่อว่าลงโทษ, ผู้ปกครองต้องทำงานไปด้วย สอนเด็กไปด้วย หากเด็กไม่ร่วมมือ ทำให้ผู้ปกครองหงุดหงิดโมโห
- มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อนำมาใช้เรียน/ทำงานออนไลน์, ค่าน้ำค่าไฟค่าอินเตอร์เน็ต
แต่ในเมื่อเราไปปรับปัจจัยภายนอกเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไม่ได้ ทุกอย่างไม่มีความแน่นอน เรายังคงต้องเรียน/ทำงานออนไลน์กันต่อไปอย่างไม่รู้ว่าจะกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้เมื่อไร หมอเลยอยากแนะนำวิธีการปรับตัวเพื่อถนอมใจให้บอบช้ำน้อยที่สุดจากการเรียน/ทำงานออนไลน์
วิธีที่ช่วยให้การเรียน/การทำงานออนไลน์มีประสิทธิภาพและลดความเครียด
- ทำใจยอมรับว่าต้องเปลี่ยนระบบวิธีการเรียน/ทำงานเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้กำลังใจตนเองว่าเรามีศักยภาพมากพอและมีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ หากช่วงแรกยังไม่คุ้นชินไม่เป็นไร ต่อไปจะค่อยๆดีขึ้น
- จัดตารางชีวิตให้เป็นปกติ (Routines) เช่น นอนตื่นให้เป็นเวลาและเพียงพอ, หลังตื่นนอนให้อาบน้ำแต่งตัวเพื่อเตรียมพร้อมที่จะไปทำกิจกรรมอื่น ไม่นอนเล่นบนเตียงนานจนเกินไป, กินอาหารให้ครบสามมื้อตามเวลาปกติ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ปรับสิ่งแวดล้อมจัดมุมที่เป็นทางการสำหรับการเรียน/การทำงาน (Dedicated Workspace) สิ่งแวดล้อมสงบ ไม่มีสิ่งที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น
- แจ้งตารางเวลาการเรียน/การทำงานให้กับสมาชิกคนอื่นๆในบ้านรับทราบเพื่อป้องกันการรบกวน เช่น เวลาเรียน/สอบ, เวลาประชุมออนไลน์
- ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรติดต่อกับเพื่อน, คนที่ร่วมงานด้วย หรือคนอื่นๆ (Socialize) เพื่อลดโอกาสการเกิดความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว (Loneliness) ให้เรายังรู้สึกว่าเรายังมีการเชื่อมต่อ (connect) กับคนอื่น ไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้ต้องอยู่ตามลำพัง เพราะความเหงา อ้างว้างอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตใจได้ เช่น โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล ถึงแม้จะมีข้อจำกัดทางกายภาพที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดกันได้ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายอย่างให้เลือกใช้ (Online Platform) เพื่อที่จะยังสามารถติดต่อเชื่อมโยงถึงกัน (Socializing) ไม่ได้ต้องอยู่เพียงลำพัง เช่น การโทรศัพท์, คอลคุย, วีดีโอคอล, การส่งข้อความและรูปผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ ควรมีการพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆที่เกิดแต่ละวันกับคนที่สนิท/คนที่รับฟัง เล่าระบายความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้น หากไม่ไหวให้ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น มีการให้กำลังใจกันและกัน
- หาวิธีการจัดการความเครียด มีเวลาพักผ่อน เตรียมกิจกรรมที่สามารถทำได้จริง ลิสต์ออกมา จัดหาอุปกรณ์เท่าที่เป็นไปได้ เช่น อ่านหนังสือ, ลงเรียนคอร์สออนไลน์ในเรื่องที่สนใจ, ทำอาหาร, ทำสวน, งานศิลปะ, เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ได้พบปะผู้คน (Videoconference Meeting)
- สร้างบรรยากาศในบ้านให้ไม่เครียด (positive tone) เช่น มีการคุยเรื่องที่สนุก, ให้กำลังใจกัน, ทำกิจกรรมร่วมกัน
- พยายามอย่าเล่น Social Media หรือเกมแบบอยู่กับตัวเองมากจนเกินไป จนไม่รับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง (Sensory Deprivation) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเสพติด (Social Media/Game Addiction)
- หลีกเลี่ยงการรับข้อมูลข่าวสารมากจนเกินไป (Information Overload) เพราะจะทำให้เกิดความคิดกังวล จนอารมณ์แย่ได้
วิธีการที่ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กให้เรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- คุยทำความเข้าใจเรื่องระบบวิธีการเรียนออนไลน์กับครูที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะแต่ละโรงเรียนหรือครูแต่ละคนใช้วิธีไม่เหมือนกัน บางคนสอนสด บางคนอัดคลิป โปรแกรมที่ใช้ในการเรียนมีหลากหลาย เช่น ZOOM, Microsoft Team, Google Meet, Google Classroom, Facebook, Line ผู้ปกครองต้องไปศึกษาวิธีการใช้แล้วนำมาสอนหรือช่วยเด็กในการเรียน
- มีการติดต่อประสานงานส่งต่อข้อมูลกับครูสม่ำเสมอ เช่น ตรวจสอบเรื่องเวลาการเข้าเรียน, การส่งงาน
- หากเป็นเด็กเล็กที่ต้องเรียนออนไลน์ผู้ปกครองควรประกบอยู่ด้วยระหว่างการเรียน เพื่อคอยให้คำแนะนำและ/หรือช่วยเรื่องการจดงาน จดบันทึกการบ้าน คอยเตือนเมื่อเด็กไม่มีสมาธิ หากเป็นเด็กโตอาจปล่อยให้เรียนโดยไม่ต้องประกบได้ แต่ควรมีการสุ่มดูเป็นระยะว่าเด็กเรียน/ทำงานจริงหรือไม่
- ผู้ปกครองช่วยทบทวนบทเรียนและดูเรื่องการทำการบ้านส่งงาน ชวนเด็กคุยเรื่องเรียนให้กลายเป็นเรื่องน่าสนุก ให้เด็กมีส่วนร่วมวางแผนเรื่องการทำการบ้านเพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจว่าเขายังสามารถควบคุมบางอย่างได้อยู่ (sense of autonomy) หากเห็นว่าต้องทำงานทีละเยอะๆจะท้อใจได้ง่าย ดังนั้นควรสอนให้เด็กเรียงลำดับความสำคัญของงาน (prioritize), ซอยงานออกเป็นขั้นตอนย่อย (smaller tasks) เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจว่าจะทำงานแต่ละขั้นได้สำเร็จ, วางแผนการทำงาน จัดตารางเวลา (organizing) มีการให้รางวัลสร้างแรงจูงใจเป็นระยะ เช่น ทำการบ้านเลขเสร็จจะได้กินไอติมที่ชอบ
- พยายามหากิจกรรมให้ทำในช่วงที่มีเวลาว่างจากการเรียน เช่น ต่อเลโก้, บอร์ดเกม, ศิลปะ, เล่นดนตรี ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เสพติดเกม/โซเชียลมีเดียได้
- เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดระบายความคิด ความรู้สึก ผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี (active listener)
กรณีที่เริ่มเครียดมากจนเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกเศร้า หมดหวัง, กังวลเรื่องต่างๆอย่างมาก, ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่อยากทำอะไร, หงุดหงิดก้าวก้าว, มีปัญหาการกินการนอน, ขี้ลืม ความจำไม่ดี, สิ้นหวัง, มีความคิดว่าอยากตาย/หายไป หรือมีอาการอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต (Impaired Functions ) แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา เพื่อที่จะให้การวินิจฉัยและช่วยเหลือรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป