ยาทางจิตเวชกับวัคซีนโควิด


หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มาเป็นระยะเวลานาน ในที่สุดมีหลายบริษัทที่คิดค้นวัคซีนโควิดที่ฉีดเพื่อ

  • ป้องกันการติดเชื้อ
  • ลดความรุนแรงของอาการหากติดเชื้อ
  • ลดอัตราการตายจากการติดเชื้อ

สำหรับประเทศไทยเองได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinovac และ Astrazeneca ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. 2564 และตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป จะมีการกระจายวัคซีนฉีดให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก คำถามที่หลายคนเป็นกังวล คือ “ยาทางจิตเวชส่งผลต่อการฉีดวัคซีนหรือไม่ ?” เช่น

  • ยาทางจิตเวชเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงของวัคซีน
  • ยาทางจิตเวชไปขัดขวางการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน
  • วัคซีนทำให้อาการทางจิตเวชแย่ลง

ความกังวลเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วย/ญาติลังเลใจในการที่จะให้ผู้ป่วยได้รับวัคซีน หมอขออาสามาตอบคำถามให้นะคะ :))

ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ต่อการติดเชื้อโควิด หากผู้ป่วยติดเชื้อจะได้รับผลเสียทั้งทางด้านร่างกาย/จิตใจ และมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการที่ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช**ได้ฉีดวัคซีน** จะเป็น “ผลดี” มากกว่า “ความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างของวัคซีน” สิ่งสำคัญในการฉีดวัคซีน คือ

การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วย
1. ต้องรับวัคซีนให้ครบโดสถึงจะสร้างภูมิคุ้มกันได้
2. แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วยังต้องดูแลตัวเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด เช่น ใส่หน้ากาก, ล้างมือ

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่ได้รับยาทางจิตเวช ต้องให้ผู้ป่วยมีอาการคงที่ที่สุดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับวัคซีน คือ “2 สัปดาห์” **ก่อนฉีดวัคซีน** และ “2 สัปดาห์” **หลังฉีดวัคซีน** เนื่องจากการที่ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วนั้น ต้องมีสุขภาพทั้งทางกายและใจที่แข็งแรง ดังนั้นไม่ควรปรับลดยาในช่วงนี้ ให้ใช้ยาขนาดเท่าเดิม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

กรณีที่ยังมีอาการทางจิตรุนแรง อยู่ในช่วงปรับยา ยังสามารถให้ฉีดวัคซีนได้ ไม่มีรายงานว่ายาทางจิตเวชมีผลต่อวัคซีน (Drug interaction)

ดังนั้นการรับยาทางจิตเวชในช่วงที่ฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย กรณีที่ได้รับวัคซีน Sinovac ในประเทศไทยมีรายงานเคสที่มีผลข้างเคียงทางระบบประสาท (IRFN-Immunization Related Focal Neurological Syndrome) เช่น แขนขาชา/อ่อนแรง, ตามัว เกิดในอัตรา 1:300-1:3000 ส่วนใหญ่เกิดภายในไม่กี่ชั่วโมงและหายได้เอง มักพบในเพศหญิง, มีโรคไมเกรน/โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอยู่เดิม สมมุติฐานของการเกิดผลข้างเคียงนี้ คือ เมื่อได้วัคซีนเข้าไปจะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดหดตัว (vasospasm) หรือภูมิคุ้มกันที่ทำงานไวเกินไป มียาทางจิตเวชที่มีกลไกเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหลอดเลือดหดตัว เช่น Amitriptyline, Venlafaxine, Buproprion, Methlyphenidate ทางทฤษฎีการกินยากลุ่มนี้ในระดับที่คงที่**ไม่มีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือด**

ดังนั้นไม่ควรไปปรับลดเพิ่มหรือหยุดยาในช่วงที่ฉีดวัคซีนเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนได้ “ให้กินยาไปตามปกติ” ยกเว้นยา Methlyphenidate (Ritalin, Concerta) ที่สามารถหยุดกินในวันที่ไปฉีดได้ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการเกิดหลอดเลือดหดตัว

หากผู้ป่วยหรือญาติมีข้อสงสัยสามารถสอบถามแพทย์เจ้าของไข้ได้เพื่อหาแนวทางรักษาร่วมกัน

ที่มา: ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
เรียบเรียง: แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา



Credit :

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS