เราเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปมั้ย?


"โซเชียลมีเดีย" เป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีบทบาทในชีวิตเรามาก จุดเด่นของโซเชียลมีเดียที่แตกต่างจากสื่ออื่น คือ “เข้าถึงง่าย สะดวก ฉับไว ไม่ลบเลือน” เราใช้โซเชียลมีเดียด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น, หาข้อมูลข่าวสารที่ต้องการทราบ, ติดต่อธุระ, ใช้ระบายความเครียด โซเชียลมีเดียช่วย เพิ่มความสะดวกสบาย ติดต่อกันง่าย (เหมือนจะ)ใกล้ชิดกันมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงแค่การกดปุ่มสัมผัสที่ปลายนิ้ว และมีข้อดีอีกหลายอย่างที่ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะติดโซเชียลมีเดีย

แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะมีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน มีการศึกษาวิจัยเรื่องผลจากการใช้โซเชียลมีเดียกับการทำงานของสมอง พบว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียบ่อยและมากในระดับหนึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม อารมณ์ และความสามารถในการเรียนรู้ เช่น มักอ่านอะไรสั้นๆ ไม่อ่านเนื้อหาทั้งหมด ทำให้ขาดทักษะการจับใจความและวิเคราะห์ข้อมูล, เห็นคนอื่นมีสิ่งต่างๆแล้วเกิดการเปรียบเทียบ จนทุกข์ใจ กลายเป็นซึมเศร้าได้ เวลาที่เราใช้โซเชียลมีเดีย สมองต้องรับข้อมูลปริมาณมากในเวลาเดียวกัน (ทั้งที่จำเป็น/ไม่จำเป็น) ทำหลายๆอย่างพร้อมกัน (Multitasking) สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดเวลา เวลาที่เล่นจะมีการหลั่งสารเคมี Dopamine ทำให้เกิดอาการติดเหมือนคนติดสารเสพติด สมองมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่เรียนรู้ใหม่และความทรงจำใหม่ที่แย่ลง ความสามารถในการตัดสินใจไม่ดี การอดทนรอคอยลดลง (Delay gratification) จนมีอาการเหมือนคนเป็นโรคสมาธิสั้นได้

เมื่อติดโซเชียลมีเดียมากถึงในระดับหนึ่งจะวินิจฉัยว่าเป็น "โรคเสพติดโซเชียลมีเดีย" ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะอาการดังกล่าวส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การดูแลสุขภาพสุขอนามัย หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น เกณฑ์การวินิจฉัยต้องมีอาการครบ 4 ข้อ คือ

  1. เล่นมากจนเกินไป: เช่น เล่นไม่รู้จักเวลา ไม่กิน ไม่นอน เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนอื่น
  2. มีอาการถอนเมื่อไม่ได้เล่น: เช่น หงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า
  3. มีความต้องการที่จะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ: เช่น เพิ่มจำนวนเวลาในการเล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์
  4. มีพฤติกรรมที่ไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่น: เช่น ขโมยเงิน โกหก ทะเลาะกับคนรอบข้าง

คนที่เป็น "โรคเสพติดโซเชียลมีเดีย" มักพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นได้บ่อย จำเป็นต้องให้การรักษาควบคู่กันไป เช่น โรคสมาธิสั้น, โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, โรคกลัวการเข้าสังคม, โรคย้ำคิดย้ำทำ, พฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว, การใช้สารเสพติด

ข้อเสียอื่นๆที่ตามมาจากการใช้โซเชียลมีเดียที่ต้องเฝ้าระวัง ตัวอย่างเช่น การกลั่นแกล้งและคุกคาม (Cyberbullying and Online Harassment), การรับหรือส่งสื่อลามกไปให้คนอื่น (Sexting), ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป, การถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล, การถูกจูงใจให้ซื้อของมากเกินความจำเป็น

ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งที่คนมักมองข้ามไปและเป็นประเด็นที่สำคัญ คือ การใช้โซเชียลมีเดียทำให้คนติดอยู่ในโลกนั้น ถอยห่างจากโลกความเป็นจริง เพราะโลกโซเชียลมีเดียทำให้เรารู้สึกมีอำนาจ อยากเป็นใครก็ได้ อยากทำอะไรก็ทำ ซึ่งแตกต่างจากชีวิตจริงที่เราต้องอยู่ในกฎกติกาของสังคม บางคนเล่นมากเกินไปจนไม่มีสัมพันธภาพกับคนอื่นในชีวิตจริง ไม่ออกจากบ้าน ขาดโอกาสฝึกทักษะการเข้าสังคม แม้บางคนจะคิดว่าการใช้โซเชียลมีเดียเป็นรูปแบบการสื่อสารอย่างหนึ่ง แต่อย่าลืมว่ามันเป็นการสื่อสารทางเดียว (one way communication) ที่ไม่เหมือนกับการที่เรามาคุยกันต่อหน้า ได้เห็นภาษากาย (nonverbal) ของอีกฝ่าย และมีการตอบสนองกันทันที เช่น เมื่อเห็นอีกฝ่ายเครียด เราสามารถพูดปลอบและใช้การแตะสัมผัสให้กำลังใจกันได้ พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียอาจทำให้คนเราห่างเหินกันมากขึ้น แม้จะนั่งติดกันก็ตาม เช่น ครอบครัวที่นั่งกินข้าวพร้อมกัน แต่ทุกคนก้มหน้าเล่นมือถือ (phubbing) ไม่มีการพูดคุยกัน

เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโซเชียลมีเดียและได้รับผลเสียจากการใช้ เช่น ถูกหลอกให้โอนเงิน, ถูกหลอกให้ถ่ายรูปอนาจารส่งไปให้อีกฝ่ายดู การป้องกันและการให้การช่วยเหลือตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ วิธีการ คือ พิจารณาอายุของเด็กว่าสามารถเข้าใช้เว็บใดได้หรือไม่ได้, ใช้โปรแกรมกรองเว็บที่ไม่เหมาะสม, มีกติกาในการใช้โซเชียลมีเดีย, รู้พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของเด็ก, สอนเด็กไม่ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลตามเว็บต่างๆ, ติดตามดูรูปของเด็กที่โพสต์, เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กในการใช้โซเชียลมีเดีย, สอนเรื่องความคงอยู่ของข้อมูลที่โพสต์ลงไป, สอนเรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้โซเชียลมีเดีย และผู้ใหญ่ต้องตามเทคโนโลยีให้ทันเด็ก

หากคุณหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีพฤติกรรมที่ติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปจนเริ่มมีผลเสียต่อการใช้ชีวิต วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น พยายามลดเวลาที่เล่นลง, กำหนดเวลา จำนวนครั้งที่จะเช็คข้อมูลต่อวัน, ลบ application ที่ทำให้ติดมากๆออกจากเครื่อง, เวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นๆให้เอาอุปกรณ์หน้าจอห่างจากตัวให้มากที่สุด แต่ถ้าได้ลองหลายวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา



Credit : พญ.ปรานี ปวีณชนา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS