การเสพติดเกม


ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงมาก สิ่งที่คนเริ่มให้ความสำคัญ คือ การเสพติดเกม ซึ่งในปัจจุบันจัดเป็นโรคอย่างหนึ่ง ช่วงอายุที่พบการเสพติดเกมได้บ่อย คือ เด็กและวัยรุ่น ผลเสียที่ตามมาเกิดทั้งกับตัวเด็ก ครอบครัว ไปจนถึงสังคมส่วนรวม การช่วยเหลือเด็กสามารถทำได้ตั้งแต่การป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเสพติดเกม (Game Addiction): มีลักษณะดังต่อไปนี้ครบ 4 ข้อ

  1. เล่นมากจนเกินไป: เล่นไม่รู้จักเวลา เพลิน บางคนเล่นจนไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้เสียการเรียน เสียสัมพันธภาพกับคนรอบตัว หรือมีผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ
  2. มีอาการถอนเมื่อไม่ได้เล่น: เช่น หงุดหงิด อาละวาด ทำลายข้าวของ เครียด ซึมเศร้า
  3. มีความต้องการที่จะเล่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ: ทั้งจำนวนเวลาที่ใช้เล่น ความทันสมัยของอุปกรณ์ และสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวกับเกม
  4. อาจพบการใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
  5. มีพฤติกรรมไม่ดีที่ตามมาเพื่อให้ได้เล่น: เช่น ขโมยเงิน โกหก ทะเลาะกับคนรอบข้าง

สาเหตุของการเสพติดเกม/โซเชียลมีเดีย เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งด้านชีวภาพ จิตใจ และสังคม (Bio-Psychosocial factors)

ด้านชีวภาพ (Biological factors)

มีการศึกษาวิจัยสมองของคนที่เสพติดเกม พบว่ามีวงจรการทำงานของสมองที่ผิดปกติเหมือนคนที่ติดสารเสพติดจริง แต่ละคนมีความเปราะบาง (vulnerability) ต่อการติดเกมไม่เหมือนกัน ดังนั้นไม่จำเป็นว่าทุกคนที่เล่นเกมจะต้องเสพติดเกมเสมอไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เพียงแต่การที่เริ่มเล่นเกมก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสพติดเกมได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชหลายโรคพบร่วมกับโรคเสพติดเกมได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD), โรคดื้อต่อต้าน/เกเร (ODD/conduct disorder), โรคซึมเศร้า (Depression), โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ตัวอย่างคำอธิบายความสัมพันธ์ (co relation) ระหว่างโรคทางจิตเวชและโรคเสพติดเกม เช่น

  • โรคสมาธิสั้น: การทำงานสมองของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะชอบการตอบสนองที่ฉับพลันทันไว ไม่สามารถอดทนรอคอยได้ ขี้เบื่อ ต้องการสิ่งแปลกใหม่ การเล่นเกมสามารถตอบสนองต่อผู้เล่นได้ทันที เพียงแค่กดปุ่มบังคับ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอนาน และการเล่นเกมมีความแปลกใหม่ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ยิ่งเล่นยิ่งติด มีการศึกษาพบว่าการเล่นเกมจะทำให้อาการของสมาธิสั้นยิ่งเป็นมากขึ้นด้วย ในทางกลับกันในเด็กปกติที่เล่นเกมมากๆ การทำงานของสมองจะเริ่มมีความผิดปกติ มีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นได้ เช่น อดทนรอคอยได้ลดลง ทำอะไรได้ไม่นาน ทำงานแบบขอไปที เพื่อที่จะรีบไปเล่นเกม
  • โรคบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน (LD): เด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีผลการเรียนไม่ดี คนรอบข้างมักจะตำหนิหรือแสดงท่าทีไม่ยอมรับเด็ก ทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ที่ไม่ดี เมื่อไปเล่นเกมแล้วเด็กเล่นได้เก่ง มีสังคมเพื่อนในเกม ได้รับการชื่นชมยอมรับ เด็กจะรู้สึกตัวเองมีคุณค่า ทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม ทำให้ไม่ได้ฝึกพัฒนาทักษะทางการเรียนที่บกพร่อง เช่น ไม่ได้ฝึกอ่านเขียน อาการของโรคจะเป็นมากขึ้น
  • โรคซึมเศร้า (Depression): อาการของโรค คือ เศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร รู้สึกหมดหวังกับโลกความเป็นจริง การเล่นเกมเป็นหนทางหลีกหนี (escape) จากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่ เด็กจึงอยากที่จะอยู่ในโลกของเกม ปฏิเสธความพยายามในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริง ส่วนเด็กปกติที่เล่นเกมและมีสังคมอยู่ในนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ เช่น ถูกกลั่นแกล้งในสังคมเกม (cyber bullying), ติดเล่นเกมจนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง ทำให้ไม่มีเพื่อน เลยรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว นำไปสู่การเป็นซึมเศร้าในที่สุด

ด้านจิตใจและสังคม (Psychosocial factors)

  • มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากคนอื่น การเล่นเกมชนะ ได้อันดับดี มีชื่อเสียงในโลกของเกม ได้แรงเสริมทางบวกจากการเล่นเกม (positive reinforcement) เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ
  • การเลี้ยงดูแบบไม่มีระเบียบวินัย (Poor disciplines) ไม่มีกฎกติกา ทำให้เด็กมีความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ดี เมื่อเริ่มเล่นเกมแล้วจะติดพัน เล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่รู้หน้าที่ เช่น การเรียน กิจวัตรประจำวัน โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้สอนตักเตือน หรือแค่พูดห้ามไม่ให้เล่น แต่ไม่ได้ลงมือหยุดการเล่นเกมของเด็กอย่างจริงจัง
  • ปัญหาครอบครัว (Family dysfunction) ทำให้เด็กมีความเครียดเกิดขึ้น เด็กเล่นเกมเพื่อเป็นการระบายความเครียด
  • การขาดต้นแบบที่ดี (Poor role model) บางครอบครัวตัวผู้ใหญ่เองก็ไม่มีระเบียบวินัย ติดมือถือ ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน
  • มีกลุ่มเพื่อนที่โน้มน้าวกดดันให้ต้องเล่น(Peer pressure) ต้องเล่นเพื่อให้เพื่อนยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

ปัญหาผลเสียที่ตามมาจากการเสพติดเกม

การเสพติดเกมส่งผลเสียหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ พัฒนาการ สังคม พฤติกรรม ผลการเรียน และการเงิน

1. ผลเสียด้านสุขภาพ

  • มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (low self-esteem) อยากได้การยอมรับจากคนอื่น การเล่นเกมชนะ ได้อันดับดี มีชื่อเสียงในโลกของเกม ได้แรงเสริมทางบวกจากการเล่นเกม (positive reinforcement) เช่น ได้รับคำชม จะทำให้อยากเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ
  • อาการทางกายที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ (Unexplained Somatic symptoms) เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามตัว
  • เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต
  • เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism) คือ เมื่อนั่งเล่นเกมนานๆ ร่างกายไม่ได้มีการขยับเคลื่อนไหว การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นที่ขาได้
  • เพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ปอด (pulmonary thromboembolism) เมื่อมีลิ่มเลือดเกิดที่ขา ลิ่มเลือดจะเดินทางจากขาไปยังปอดตามระบบหมุนเวียนโลหิต แล้วไปอุดตันที่ปอด ทำให้เสียชีวิตได้
  • โรคอ้วน เกิดจากการที่ไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างอื่น บางคนเล่นเกมไป กินไปด้วย

2. ผลเสียด้านพัฒนาการและพฤติกรรม: ทำให้มีพัฒนาการทักษะสังคมไม่ดี ไม่ค่อยมีสมาธิ

  • เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมที่นั่งอยู่หน้าจอ แม้จะมีการคุยกันกับเพื่อนที่อยู่ในเกม แต่ไม่ได้เป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ทำให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกพัฒนาทักษะทางสังคม การเสพติดเกมทำให้มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ เช่น มีเรื่องทะเลาะกับผู้ปกครอง, เด็กแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนเพื่อไปเล่นเกม
  • มีงานศึกษาวิจัยพบว่าความรุนแรงจากสื่อจะส่งผลให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะเด็กคิดว่าสิ่งที่เห็นในเกมเป็นสิ่งที่ยังทำได้ เด็กบางคนแยกแยะเรื่องจริงกับสิ่งที่อยู่ในเกมได้ไม่ดี เกมต่างๆจะมีการจัดเรตอายุที่เด็กสามารถเล่นได้เอาไว้ ผู้ปกครองต้องคอยตรวจสอบว่าเด็กเล่นเกมเหมาะสมกับอายุหรือไม่
  • บางช่วงวัยเด็กจะต้องมีการฝึก สำรวจเรียนรู้สิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีพัฒนาการด้านต่างๆตามปกติ การเล่นเกมอาจไปขัดขวางพัฒนาการได้ เช่น เด็กวัย 3 ปีต้องฝึกจับดินสอ วาดภาพ ระบายสี แต่เมื่อใช้เวลาไปกับการเล่นเกม ทำให้ขาดโอกาสในการฝึกไป
  • เด็กที่เสพติดเกมจะมีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ อดทนรอคอยไม่ได้ เพราะเวลาที่เล่นเกม เมื่อกดปุ่มใดไป จะมีการตอบสนองตอบกลับมาทันที ภาพในเกมมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เกมส่วนใหญ่มักทำให้ผู้เล่นรู้สึกลุ้น ตื่นเต้นเร้าใจ แต่ในชีวิตจริงไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ต้องมีการอดทนรอคอยและความพยายามสม่ำเสมอ เช่น อยากเก่งวิชาเลข ต้องฝึกทำโจทย์ให้มาก, อยากเก่งกีฬา ดนตรี ต้องมีการฝึกซ้อม ไม่มีอะไรที่ได้มาได้ง่ายๆ โดยไม่ใช้ความพยายาม ทำให้มีอาการคล้ายสมาธิสั้นได้

3. การเรียน:

  • มีงานวิจัยหนึ่งพบว่ายิ่งเด็กวัยรุ่นใช้เวลาเล่นเกมที่มีความรุนแรงมากเท่าไร จะส่งผลให้มีผลการเรียนที่ลดลงมากเท่านั้น
  • เมื่อเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมทำให้เด็กไม่ได้ทำการบ้าน ไม่ได้ทบทวนหนังสือ ไม่ได้ไปเรียนพิเศษ เวลาที่ต้องเรียนเด็กอาจใจลอย จดจ่อคิดถึงแต่เรื่องที่จะเล่นเกม

4. การเงิน:

  • สูญเสียเงินทางตรง เช่น ค่าไฟ ค่าซื้ออุปกรณ์ ค่าเข้าร้านเล่นเกม ค่าซื้อไอเท็ม
  • สูญเสียเงินทางอ้อม เช่น การที่เด็กที่มีระดับสติปัญญาดี ตามปกติควรได้มีโอกาสได้เรียนในคณะดีๆ แต่เมื่อติดเกมจนเสียการเรียน ทำให้ไม่สามารถเข้าคณะที่คะแนนสูงๆได้ เป็นการสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคล ทั้งที่จริงมีความสามารถในการประกอบอาชีพและสมรรถภาพในการทำงานที่ดี แต่การเล่นเกมทำให้ความสามารถถดถอย ซึ่งเป็นการสูญเสียตัวเงินที่มองไม่เห็น (invisible cost)

การป้องกันโรคเสพติดเกม

  • ผู้ปกครองควรมีความรู้เรื่องเกม
    • ควรพูดคุยและให้ความรู้สอดแทรกให้เด็กเข้าใจและยอมรับว่าการเล่นเกมที่ดีควรเลือกเกมอะไร เกมใดที่ไม่ส่งเสริมให้เล่น เนื่องจากเหตุผลใด
  • ตรวจสอบอายุของผู้ที่สามารถเล่นเกมได้ (เรทเกม)
    • แต่ละเกมมีความรุนแรง ความก้าวร้าว เรื่องทางเพศ หรือเรื่องไม่เหมาะสมอื่นๆที่แตกต่างกัน ผู้ปกครองต้องดูแลไม่ให้เด็กเล่นเกมที่เกินอายุของเด็ก เพราะเด็กแต่ละวัยมีความเข้าใจ และความสามารถในการแยกแยะเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริง สิ่งที่สมควรทำกับห้ามทำ ที่แตกต่างกัน การเล่นเกมที่สื่อถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เด็กอาจลอกเลียนแบบได้
  • จัดระบบการเล่นเกมตั้งแต่ต้น
    • ก่อนจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนเรื่องกติกาการเล่นเกม**ห้ามซื้อหรือให้เด็กใช้อุปกรณ์ที่เล่นเกม**
    • การเล่นเกมต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ ภายในเวลาที่กำหนด ไม่ให้เสียหน้าที่อื่นๆ
    • ควรกำหนดให้เล่นเกมได้หลังจากทำงานในหน้าที่เสร็จเรียบร้อย
    • มีการปิดกั้นการเข้าถึงเกมที่อันตราย
    • มีการคุยกันเรื่องประเภทของเกมที่จะให้เล่น อุปกรณ์ที่จะใช้เล่น จำนวนชั่วโมงที่เล่นได้ต่อวัน ช่วงระยะเวลาที่สามารถเล่นได้ วิธีการเตือนก่อนหมดเวลาเล่น และผลที่ตามมาหากฝ่าฝืนเล่นเลยเวลาจากที่กำหนดไว้ ต้องเขียนเป็นข้อตกลงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถทำตามได้จริง และมีการลงชื่อรับทราบ (sign contract) จากผู้ใหญ่ในบ้านทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกความเห็นด้วย มีเอกสารบันทึกวันที่และเวลาในการเล่น เพื่อป้องกันการถกเถียงกันว่าเล่นไปนานเท่าไร วันนี้ได้เล่นแล้วหรือยัง ไม่ควรให้เด็กใช้มือถือหรืออินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง
  • อย่าให้เด็กเข้าถึงมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ง่าย โดยไม่มีการควบคุม
  • อย่าใช้เกมเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือหยุดพฤติกรรมไม่ดี เช่น เด็กซนหรือก่อกวนมาก เลยให้เล่นมือถือ เพื่อไม่ให้มาก่อกวน, ไม่มีคนช่วยดูแล ผู้ปกครองต้องทำงาน เลยให้มือถือเพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ทำงานได้, เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น โวยวายเสียงดัง ขว้างปาข้าวของ เลยให้มือถือเพื่อหยุดพฤติกรรมดังกล่าว, เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน ต่อรองว่าต้องให้เล่นมือถือก่อนถึงจะยอมไปโรงเรียนวันรุ่งขึ้น
  • วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในสถานที่ที่เป็นที่โล่ง เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้เฝ้าดูได้
  • ไม่ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด หากจะเล่นในห้องที่มีประตูปิด ห้ามล็อคประตู ผู้ปกครองต้องสามารถสุ่มเข้าไปดูการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กได้
  • วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง หรือในตำแหน่งที่เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจน เพื่อที่จะควบคุมให้เล่นภายในเวลาที่กำหนดกันไว้
  • พยายามจัดหากิจกรรมอย่างอื่นให้เด็กทำ ชดเชยการเล่นเกม เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ
  • เมื่อมีการละเมิดกฎกติกาที่ตกลงกันไว้
    • ทบทวนอย่างจริงจังว่าเกิดปัญหาอุปสรรคใดที่ทำให้ไม่สามารถทำตามกติกาที่ตกลงไว้ได้
    • กำหนดมาตรการควบคุมเพิ่มเติม ถ้ายังทำไม่ได้อีกอาจเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
    • ไม่มีการต่อรอง ไม่ต้องอธิบายมาก หรือบ่นว่าหรือพูดเตือนซ้ำๆหลายครั้ง แต่เน้นลงมือปฎิบัติให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้
    • ไม่สนใจปฏิกิริยาเด็กที่อาจบ่น โวยวาย ให้เพิกเฉยกับพฤติกรรมที่ไม่ดี
  • การป้องกันที่ควรทำล่วงหน้าก่อนที่จะให้เด็กเล่นเกม
    • ฝึกให้เด็กมีการควบคุมตนเอง มีการจัดตารางเวลามาตั้งแต่เล็ก ควรฝึกตั้งแต่เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป
    • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกที่ดี เพื่อที่จะสามารถพูดคุยตกลงกันได้
  • หากเด็กต่อต้านรุนแรงที่จะเลิกหรือลดการเล่นเกม
    • ในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับเด็ก พยายามทำความรู้จักกับเกมที่เด็กชอบเล่น
    • หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือเกมที่ใช้ความรุนแรง พยายามเบี่ยงเบนให้เด็กมาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดี เมื่อสัมพันธภาพกับเด็กเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อยๆดึงเด็กให้มาสนใจในกิจกรรมอื่นทีละเล็กทีละน้อย
  • หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์เด็กเนื่องจากเด็กอาจจะป่วย จำเป็นต้องได้รักการรักษาโรคเสพติดเกมและโรคอื่นๆที่อาจพบร่วม เช่น สมาธิสั้น, โรคซึมเศร้า


Credit : พญ.ปรานี ปวีณชนา

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS